ระบบกฎหมายการอยู่ร่วมกันในสังคม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 5.8K views



การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องมีระบบกฎหมายเพื่อเป็นมาตรฐานในการควบคุมความประพฤติ หรือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ให้กับคนที่อยู่ร่วมในสังคมสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติ ไม่เกิดการทะเลาะเบาะแว้งซึ่งกันและกัน อีกทั้งเมื่อเกิดความขัดแย้งต่างๆ ขึ้นมา กฎหมายก็จะเป็นที่พึ่งในการผดุงความยุติธรรมในสังคม กฎหมายที่เกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ของบุคคลนั้นได้แก่ กฎหมายแพ่ง

ภาพ : shutterstock.com

 

โดยหลักการของวิชากฎหมายนั้น เราสามารถแบ่งกฎหมายออกได้เป็น 2 ชนิดคือ หนึ่ง กฎหมายอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความผิด และการลงโทษผู้กระทำผิด โดยแบ่งออกเป็น 5 สถานคือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน

ส่วนกฎหมายชนิดที่สองคือ กฎหมายแพ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยบุคคล หรือความสัมพันธ์ของบุคคลในสังคม หรือสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคล ตัวอย่างเช่น ทรัพย์สิน มรดก หรือพินัยกรรม กฎหมายแพ่งนั้น ถือเป็นกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของบุคคลธรรมดามากที่สุด โดยสามารถแบ่งได้ออกเป็นกฎหมายชนิดต่างๆ อีกมากมาย ตัวอย่างเช่น

 

1. กฎหมายเกี่ยวกับความสามารถของบุคคล

บุคคลทางกฎหมายแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

       - บุคคลธรรมดา หมายถึง มนุษย์ซึ่งมีสภาพบุคคล และสิ้นสุดสภาพบุคคลโดยการตาย
       - นิติบุคคล ซึ่งไม่ใช่บุคคลธรรมดา กล่าวคือ โดยสภาพความเป็นจริงนั้น มิได้เป็นบุคคล หรือเป็นมนุษย์ แต่ได้รับการยอมรับโดยกฎหมายให้มีสถานะ และมีความสามารถบางประการเช่นเดียวกับมนุษย์ ดังนั้น นิติบุคคลจึงจำเป็นต้องมีบุคคลที่เป็นมนุษย์ทำหน้าที่แทนในการแสดงเจตนา เช่น มีกรรมการทำหน้าที่แทน ตัวอย่างของนิติบุคคลที่ปรากฏตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น กระทรวง ทบวง กรม วัด ห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนแล้ว บริษัทจำกัด สมาคม มูลนิธิ

ในกรณีของบุคคลธรรมดา สามารถพิจารณาได้เป็น 2 กรณีคือ ผู้เยาว์ และผู้บรรลุนิติภาวะ

ผู้เยาว์ คือผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นผู้ที่ยังเยาว์ในทางความคิดและร่างกาย ผู้เยาว์ไม่สามารถทำนิติกรรมได้ตามลำพังตนเอง เพราะการปราศจากประสบการณ์หรือความรู้ จึงอาจก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ตัวผู้เยาว์เองได้ การพ้นสภาพของการเป็นผู้เยาว์ หรือการบรรลุนิติภาวะของผู้เยาว์นั้นเกิดขึ้นจาก

1. บรรลุนิติภาวะโดยอายุ บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์ และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ 20 บริบูรณ์ (มาตรา 19)
2. บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว

ความสามารถของผู้เยาว์นี้ ไม่อาจจะมีได้เท่าผู้บรรลุนิติภาวะที่มีประสบการณ์ หรือความเข้าใจในโลกมากกว่า เนื่องด้วยกฎหมายเกรงความไม่มีประสบการณ์ดังกล่าว จะเป็นอุปสรรค์ที่สำคัญในการใช้ความสามารถของผู้เยาว์ ผู้แทนโดยชอบธรรม จึงเป็นตัวแทนของผู้เยาว์ในการทำนิติกรรมต่างๆ

ในแง่นี้ “ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใดๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

ผู้เสมือนไร้ความสามารถ คือ บุคคลที่ศาลได้มีคำสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ความพิการทางร่างกายจนก่อให้เกิดปัญหากับการใช้ชีวิต หรือความบกพร่องทางจิต เช่น ฟั่นเฟือน แต่ไม่ถึงขั้นวิกลจริต หรือผู้มีนิสัยเสเพลเป็นอาจิณจนส่งผลต่อการครองชีวิตในทางที่ควร นิติกรรมที่ผู้เสมือนไร้ความสามารถจะกระทำนั้น ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ มิเช่นนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ผู้ไร้ความสามารถ คือ บุคคลผู้ที่ศาลได้มีคำสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ บุคคลดังกล่าวคือ บุคคลที่มีปัญหา หรือมีความผิดปกติทางจิตอย่างรุนแรง จนไม่สามารถเข้าใจความผิดชอบชั่วดีได้ หรือมีอาการของโรค หรืออาการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ผู้ไร้ความสามารถเปรียบเสมือนเด็กอ่อน ซึ่งจำเป็นต้องมีคนดูแลคือ ผู้อนุบาล และผู้ไร้ความสามารถไม่สามารถทำนิติกรรมได้ด้วยตนเอง กล่าวคือ ผู้อนุบาลจะเป็นผู้กระทำการแทน

 

2. กฎหมายครอบครัว

คือกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคลในลักษณะต่างๆ ตัวอย่างเช่น การหมั้น หรือการสมรส ในส่วนของการหมั้นมีเงื่อนไขอยู่ 2 ประการคือ

1. อายุของคู่หมั้น ชาย และหญิงที่เป็นคู่หมั้นกันต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ หากอายุต่ำกว่านี้ จะถือเป็นโมฆะ
2. ความยินยอมของบิดามารดา กล่าวคือ ต้องได้รับความยินยอมจากทั้งบิดาและมารดา แม้บิดามารดาจะแยกกันอยู่ก็ตาม หรือจากผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล การหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมของบุคคลดังกล่าวย่อมเป็นโมฆียะ

ในส่วนของการสมรส มีหลักเกณฑ์การสมรส มีอยู่ 4 ข้อคือ

1. คู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นชาย อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้หญิง (นับตามเพศกำเนิด)
2. การสมรสจะต้องเป็นการกระทำโดยสมัครใจของชายและหญิง หากชายและหญิงสมรสกันโดยไม่ได้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจ การสมรสนั้นเป็นโมฆะ
3. การอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาจะต้องเป็นระยะเวลาชั่วชีวิต
4. การสมรสจะต้องมีคู่สมรสเพียงคนเดียว


 

เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ