พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทยมาอย่างช้านาน นอกจากจะมีหลักคำสอนอันเป็นที่ยึดเหนี่ยวและปฏิบัติตาม โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การบรรลุสู่ธรรมขั้นสูง หรือนิพพานแล้วนั้น พระพุทธศาสนายังคงเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทยที่สำคัญหลายประการ ดังจะเห็นได้จาก “ศาสนพิธี” ต่างๆ โดยวัฒนธรรมไทยที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนานั้นก็เช่น มารยาทในการเข้าร่วมศาสนาพิธี ซึ่งแสดงถึงการขัดเกลาทางสังคมโดยอาศัยหลักพุทธธรรมเป็นแนวทาง
วัฒนธรรมของประชาชนชาวไทยนั้น มีพระพุทธศาสนาเป็นรากฐาน ที่ดำรงอยู่ในทุกกิจกรรมของชีวิต ตัวอย่างเช่น การทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า หรือการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ในเทศกาลสำคัญทางศาสนา หรือในพิธีกรรมทางศาสนา ตัวอย่างเช่น การถวายผ้าอาบน้ำฝน การทอดกฐินในช่วงเทศกาลออกพรรษา หรือการทอดผ้าป่า ซึ่งเป็นเทศกาลงานบุญที่จัดสืบเนื่องตลอดทั้งปี
วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับหลักศาสนาข้างต้นนั้น กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทย ซึ่งไม่สามารถที่จะแยกขาดออกจากกันได้ ศาสนกิจต่างๆ ล้วนแต่มีอุบายธรรม หรือความหมายที่สำคัญซ่อนอยู่ ตัวอย่างเช่น การทอดผ้าป่า หรือการทอดกฐินนั้น ย่อมแฝงไว้ด้วยความสมัครสมานสามัคคีของพุทธศาสนิกชน ในการร่วมมือและร่วมใจทำบุญ หรือสร้างบุญให้เกิดขึ้น ในขณะที่การถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์นั้น เป็นอุบายธรรมให้ละความตระหนี่ เป็นต้น
ศาสนาพิธีดังที่ได้ยกตัวอย่างไว้ข้างต้น เป็นการฝึกฝนให้พุทธศาสนิกชนมีความเรียบร้อย งดงาม กล่าวคือ ในการประกอบศาสนกิจต่างๆ นั้น รูปแบบการปฏิบัติอันเหมาะสมและถูกต้อง เป็นสิ่งสำคัญที่พุทธศาสนิกชนควรเรียนรู้ เพื่อให้กลายเป็นนิสัย และนำไปใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ตัวอย่างเช่น การถวายสังฆทาน ผู้ถวายสังฆทานจะต้องฝึกฝน และเข้าใจรูปแบบของการยืน การนั่ง การสนทนากับพระภิกษุสงฆ์ ให้มีความเหมาะสม
ในขณะที่การแต่งกายในการเข้าร่วมงานศาสนาพิธีนั้น ก็ถือเป็นหนึ่งในอุบายธรรมที่ซ่อนเอาไว้ในศาสนาพิธีเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การเข้าร่วมพิธีมงคล ผู้เข้าร่วมควรจะแต่งกายด้วยสีสันสุภาพเรียบร้อย และสวยงาม ในขณะที่การเข้าร่วมงานอวมงคล เช่น งานศพ บุคคลที่เข้าร่วมงานควรเลือกเครื่องแต่งกายที่สุภาพเรียบร้อย เป็นสีดำ หรือสีขาว เป็นต้น
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ