หลักธรรมเรื่องทิศ 6 เป็นหลักธรรมที่พระพุทธศาสนาได้วางกรอบเอาไว้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนต่อบุคคลต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัว หรือก็คือ เป็นหลักการจัดการความสัมพันธ์กับคนในสังคมเดียวกัน โดยเปรียบเทียบบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับตัวเราเป็นทิศทั้ง 6 ทิศ
การเปรียบเทียบบุคคลรอบตัวเป็นทิศต่างๆ นั้น สมมติให้เรายืนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก็จะพบว่ามีบุคคลเบื้องหน้าเป็นทิศบูรพา บุคคลเบื้องหลังเป็นทิศปัจฉิม ดังนี้
1. ปุรัตถิมทิส ทิศเบื้องหน้า คือ ทิศตะวันออก ได้แก่ มารดา บิดา เพราะเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก่อน
2. ทักขิณทิส ทิศเบื้องขวา คือ ทิศใต้ ได้แก่ ครูอาจารย์ เพราะเป็นทักขิไณยบุคคล ควรแก่การบูชา
3. ปัจฉิมทิส ทิศเบื้องหลัง คือ ทิศตะวันตก ได้แก่ บุตร ภรรยา เพราะคอยติดตามเป็นกำลังสนับสนุนอยู่ข้างหลัง
4. อุตตรทิส ทิศเบื้องซ้าย คือ ทิศเหนือ ได้แก่ มิตรสหาย เพราะเป็นผู้ช่วยให้ข้ามพ้นอุปสรรค ภัยอันตราย และเป็นกำลังสนับสนุนให้บรรลุความสำเร็จ
5. เหฏฐิมทิส ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ คนรับใช้ ลูกน้อง บริวาร เพราะเป็นผู้ช่วยทำการงานต่างๆ เป็นฐานกำลังให้
6. อุปริมทิส ทิศเบื้องบน ได้แก่ สมณพราหมณ์ พระสงฆ์ เพราะเป็นผู้สูงด้วยคุณธรรม และเป็นผู้นำทางจิตใจ
ศาสนาพุทธได้วางรูปแบบการปฏิบัติที่เหมาะสมตามสถานภาพ และบทบาททางสังคมของบุคคลกลุ่มต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับตัวเรา การปฏิบัติตนได้ถูกต้อง และเหมาะสมกับสถานภาพ ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของความสงบสุขในสังคม
ถ้าบุคคลไม่ปฏิบัติต่อบุคคลในลักษณะที่ควรจะเป็นแล้ว สังคมย่อมที่จะเกิดความวุ่นวาย ตัวอย่างเช่น หากบุตรธิดาไม่กตัญญูต่อบิดามารดา ไม่เลี้ยงดูยามแก่ชรา ย่อมทำให้บิดามารดาไม่ได้รับการอุปถัมภ์ดูแล กลายเป็นภาระสังคม หรือหากนายจ้างไม่ให้ความเมตตากรุณากับลูกจ้าง ย่อมเกิดการเอารัดเอาเปรียบ อันนำไปสู่การประท้วงต่อต้าน จนทำให้สังคมเกิดความเดือดร้อนวุ่นวาย
หลักธรรมเรื่องทิศ 6 แสดงให้เห็นว่า แนวคิดหลักของพระพุทธศาสนา วางอยู่บนการให้ความสำคัญกับระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคม เมื่อระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคมมีความราบรื่นเรียบร้อย ทุกคนก็จะสามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุขในสังคมร่วมกันได้
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ