อานาปานสติ คือ วิธีในการพัฒนาสติด้วยการดูลมหายใจเข้าออก ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย เพราะใช้สิ่งที่เป็นธรรมชาติที่ใกล้ตัวที่สุด อย่างลมหายใจของตนเอง เป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดความระลึกรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา แม้จะเป็นวิธีที่ง่าย แต่ผลลัพธ์ที่ได้จากอานาปานสตินั้น ประเมินค่าไม่ได้เลยทีเดียว
“อานาปานสติ” มาจากคำว่า “อานะ” แปลว่า ลมหายใจออก และ “ปานะ” แปลว่า ลมหายใจเข้า รวมกับคำว่า “สติ” แปลว่า ความระลึกรู้ “อานาปานสติ” จึงหมายถึง การกำหนดความระลึกรู้ไว้ที่ลมหายใจนั่นเอง
หลักการที่สำคัญของ อานาปานสติ ก็คือ การรับรู้ปัจจุบันขณะ ยามเมื่อหายใจเข้าก็ให้รู้ว่าหายใจเข้า ยามเมื่อหายใจออกก็ให้รู้ว่าหายใจออก เต็มไปด้วยสภาวะตื่นรู้อยู่ทุกลมหายใจ ไม่ลอยฟุ้งไปกับความคิดที่เข้ามาเยี่ยมเยือน
อานาปานสติ เป็นวิธีฝึกสติที่ทำได้ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง หรือนอน หรือแม้แต่กระทำกิจกรรมใดก็ตาม การรับรู้ลมหายใจจะทำให้มีสติอยู่กับตัวเสมอ ไม่สั่นไหวคล้อยตามไปกับสภาวะธรรมภายนอกที่เข้ามากระทบ
เมื่อมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม อย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้ไม่ประมาท ดำรงชีวิตด้วยความรอบคอบ ทั้งระมัดระวังภยันตรายต่างๆ และไม่พลั้งเผลอคิด พูด หรือกระทำความชั่วร้าย เช่น เมื่อมีสิ่งเร้าภายนอกมาทำให้โกรธ หากมีสติรู้เท่าทันว่า ตัวเองกำลังจะโกรธ ความโกรธก็จะดับลงไปเอง หรืออย่างน้อยที่สุด ก็จะบรรเทาโทสะลงได้บ้าง
การมีสติชอบเป็นองค์สำคัญข้อหนึ่งใน “อริยมรรค” อันเป็นทางเพื่อการหลุดพ้นจากทุกข์ การฝึกสติมีอยู่ด้วยกันหลายระดับ แต่ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของอานาปานสติ นอกจากความง่ายแล้วก็คือ อานาปานสตินั้นครอบคลุมการฝึกสติ ตั้งแต่ขั้นต้น ไปจนขั้นเอกอุ
โดยในพุทธประวัติมีว่า อานาปานสติ เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ตลอดพระชนม์ชีพ แม้แต่ในวันที่พระองค์ตรัสรู้ ก็ทรงเจริญอานาปานสตินี้เป็นเบื้องแรก
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ