หากยึดความหมายตามพจนานุกรมพุทธศาสตร์ “โยนิโสมนสิการ” ก็คือ การ “วิเคราะห์” หรือคิดแยกแยะโดยปัญญา เป็นการทำในใจโดยแยบคาย ด้วยการคิดหาความสัมพันธ์ของหลักการเรื่องเหตุและผล หรือการเกิดขึ้นอย่างสัมพันธ์กันของสรรพสิ่งต่างๆ การคิดแบบโยนิโสมนสิการ ยังเป็นรากฐานที่สำคัญของคุณธรรม เรียกว่า “วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม” หรือ วิธีคิดแบบเร้ากุศล เป็นวิธีคิดในแนวสกัดกั้น หรือบรรเทา และขัดเกลาตัณหา
ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ท่านได้กล่าวถึงความหมายของหลักการเรื่อง โยนิโสมนสิการ ว่า
“โยนิโสมนสิการ การทำในใจโดยแยบคาย, กระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย การพิจารณาโดยแยบคาย คือพิจารณาเพื่อเข้าถึงความจริง โดยสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับจนถึงต้นเหตุ แยกแยะองค์ประกอบ จนมองเห็นตัวสภาวะ และความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย หรือตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีที่ชั่ว ยังกุศลธรรมให้เกิดขึ้นโดยอุบายที่ชอบ ซึ่งจะมิให้เกิดอวิชชาและตัณหา”
การคิดแยกแยะจนเข้าถึงความหมายที่แท้จริงของสภาวะแห่งธรรม ย่อมเห็นว่าโดยธรรมชาตินั้น จิตเป็นภาวะที่บริสุทธ์ปราศจากความหมองมัว ดังนั้น กิเลส หรือความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น จึงเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยภาวะปัจจัยทั้งหลาย เมื่อปัจจัยเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป ความคิดหรือการปรุงแต่งต่างๆ นั้น ก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย
ปรากฏการณ์นี้จึงแสดงถึงความเป็นของ “ว่าง” คือ “ปราศจากแก่นสาร หรือตัวตนที่เที่ยงแท้” เมื่อเข้าใจถึงความจริงข้อนี้แล้ว เราจะพบว่าธรรมชาติเดิมแท้ของเรานั้น เป็นสิ่งที่สะอาด การมุ่งกลับสู่ธรรมชาติที่แท้นั้น จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์พึงปฏิบัติ
การคิดกระตุ้นเร้าในลักษณะดังกล่าว สามารถมองได้ว่า เป็นอุบายธรรมที่สำคัญในการก่อให้เกิดกำลังใจ ในการขจัด หรือต่อต้านการเกิดขึ้นของกิเลสตัณหา เพื่อการปรากฏขึ้นของธรรมชาติเดิมแท้ของมนุษย์
โยนิโสมนสิการจึงจัดได้ว่า เป็นหลักปฏิบัติสำคัญที่จะสร้างสัมมาทิฐิ ช่วยให้สามารถตั้งต้น และดำเนินไปในทางที่ดีงามได้ต่อไป
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ