ศาสนาพุทธมีคัมภีร์สำคัญหลายระดับชั้น ชั้นแรกคือ “พระไตรปิฎก” เป็นคัมภีร์สำคัญที่สุด รองลงมาเป็น “อรรถกถา” และ “ฎีกา” ตามลำดับ โดยพระไตรปิฎกแปลว่า 3 ตะกร้า หมายถึง ตะกร้า 3 ใบที่บรรจุพระธรรมไว้เป็น 3 กอง ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนปัจจุบัน พระไตรปิฎกได้รับการสังคายนามาโดยตลอด เพื่อชำระพระธรรมของพระตถาคตให้เที่ยงตรง ถูกต้อง และสมบูรณ์
พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์ที่รวมรวมคําสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวดหมู่ แบ่งออกได้เป็น 3 หมวดคือ
1. พระวินัยปิฎก เป็นกฎข้อห้ามของสงฆ์ มีทั้งสิ้น 21,000 หัวข้อ
2. พระสุตตันตปิฎก เรียกว่าพระสูตร โดยรากศัพท์คือคำว่า สุตะ แปลว่า ฟัง พระสูตรจึงหมายถึง เรื่องราวพุทธประวัติที่ได้ยินได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระจอมไตร พระสุตตันตปิฎกมีลักษณะเป็นเรื่องเล่า เป็นประมวลพระพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่บุคคลต่างๆ ในโอกาส และสถานที่ต่างๆ รวมทั้งสิ้น 21,000 หัวข้อ
3. พระอภิธรรมปิฎก เป็นประมวลธรรมในศาสนาพุทธ ไม่มีเรื่องราวประกอบ มีทั้งสิ้น 42,000 หัวข้อ
การศึกษาพระไตรปิฎกมีข้อสำคัญที่ควรระวัง คือ
หนึ่ง พระไตรปิฎกไม่ใช่คำที่พระพุทธเจ้าทรงใช้
โดยในสมัยพุทธกาล คำสอนของพระองค์เรียกรวมว่า “พระธรรมวินัย” โดยแบ่งเป็น “พระธรรม” คือ หลักธรรมทั้งสิ้นที่พระมหาบุรุษได้แสดงไว้ ซึ่งเทียบได้กับ “พระสุตตันตปิฎก” ในปัจจุบัน และอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า “พระวินัย” ซึ่งก็คือ “พระวินัยปิฎก” ในปัจจุบัน
โดยในการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก หลังจากพระทศพลเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วนั้น พระอานนท์เป็นผู้ทรงจำพระธรรมไว้ได้ดีที่สุด จึงได้เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม ในด้านพระวินัยนั้นพระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนา ส่วนพระอภิธรรมปิฎกนั้นเกิดขึ้นในภายหลัง
สอง คัมภีร์พระไตรปิฎกไม่ได้เกิดในยุคเดียวกับพระพุทธเจ้า
พระไตรปิฎกได้รับการรวบรวมขึ้น หลังจากที่พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไปแล้วเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยในช่วงแรก ก่อนที่จะมีการจดบันทึกนั้น ศาสนาพุทธใช้การเผยแผ่ และสืบทอดคําสอนด้วยการพูด และท่องจำแบบปากต่อปาก เรียกวิธีนี้ว่า “มุขปาฐะ”
การจดบันทึกเป็นตัวอักษรครั้งแรกในโลกเกิดขึ้นที่ ประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 5 ในศาสนาพุทธ
สาม พระไตรปิฎกถือเป็นคัมภีร์ชั้นแรกของศาสนาพุทธ
นอกจากพระไตรปิฎกแล้ว ศาสนาพุทธยังมีคัมภีร์ชั้นรอง ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อบรรยายขยายความพระไตรปิฎกอีกทอดหนึ่ง เรียกว่า “อรรถกถา” ถ้าเป็นคัมภีร์ที่รองลงไปจากชั้นที่สอง ซึ่งเป็นการเขียนอธิบายอรรถกถาต่ออีกที จะเรียกว่า “ฎีกา”
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ