พระพุทธศาสนาคือ ข้อคำสอนที่มีเป้าประสงค์อันเกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ แนวคิดที่สำคัญทางพระพุทธศาสนานั้น ล้วนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับหลักการเรื่องการจัดระเบียบทางพฤติกรรม การจัดระเบียบทางความคิด หรือการจัดระเบียบระหว่างความสัมพันธ์ของบุคคลในสังคมอย่างมีนัยยะสำคัญ หลักธรรมในพระพุทธศาสนาหลายข้อนั้น สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการระเบียบทางสังคม และการวางรากฐานความสัมพันธ์ของบุคคลในสังคมได้อย่างสมบูรณ์
หลักธรรมเรื่องสังคหวัตถุ 4 และพรหมวิหาร 4 นั้น เป็นหลักธรรมที่อธิบายถึงลักษณะพฤติกรรมอันสมควรจะพึงปฏิบัติของบุคคลในสังคม ที่มีต่อบุคคลอื่นซึ่งดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น การให้ “ทาน” หรือการแบ่งปัน ถือเป็นการวางรากฐานของระบบความสัมพันธ์ในเชิงเอื้ออาทรในสังคม
“ปิยวาจา” หรือการพูดจาไพเราะ คือการวางรากฐานเรื่องการตระหนักรู้ ถึงความอ่อนไหวในเชิงความรู้สึกของบุคคลอื่นในสังคม
“มุทิตา” หรือการยินดีเมื่อผู้อื่นได้รับความสำเร็จ เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม โดยปราศจากความอิจฉาริษยาอันจะนำไปสู่ข้อขัดแย้งได้
ในขณะที่ “อุเบกขา” หรือการทำใจเป็นกลาง มีความหมายถึงการเคารพในสิทธิ และเสรีภาพของผู้อื่น โดยไม่ก้าวล่วงสิทธิ และเสรีภาพในเชิงความคิด และในเชิงพฤติกรรมของผู้ที่ดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกับตนเอง
หลักธรรมดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าศาสนาพุทธนั้นมีรากฐานในการให้ความสำคัญกับการดำรงอยู่ร่วมกัน และการจัดระเบียบในสังคมอย่างชัดเจน
นอกเหนือจากนี้แล้ว หลักธรรมบางประการในศาสนาพุทธ ยังสื่อความให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับระบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคมตัวอย่าง เช่น หลักการเรื่อง “ทิศ 6” คือ การวางระบบความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับบุคคลต่างๆ ซึ่งดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกับตัวเอง
นั่นยิ่งแสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนามีหลักธรรม ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบทางสังคม และจัดระเบียบความสัมพันธ์ของคนในสังคม เพื่อก่อให้เกิดระบบความสัมพันธ์อันราบรื่น อันจะนำไปสู่การมีสังคมที่สงบร่มเย็น
ในแง่นี้ เราพบว่าพระพุทธศาสนาอาจจะมีประโยชน์ในมิติเชิงสังคม ในฐานะที่เป็นพลังอ่อน หรือเป็นข้อเสนอแนะ มากกว่าที่จะเป็นพลังแข็ง หรือเป็นกฎข้อบังคับในลักษณะเช่นกฎหมาย ซึ่งหากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ดีต่อหลักการในพระพุทธศาสนา ปัญหาต่างๆ ทางสังคมย่อมที่จะไม่เกิดขึ้น การบังคับใช้กฎหมายอาจจะไม่มีความจำเป็นในสังคมที่ประชาชนเข้าถึงแก่นแท้ และความคิดที่สำคัญของพระพุทธศาสนา
สังคมในลักษณะดังกล่าวอาจจะมองได้ว่า เป็นสังคมในเชิงอุดมคติที่จะบรรลุถึงได้ด้วยการพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงแนวคิด ความรู้ และความเข้าใจของบุคคลในสังคมนั่นเอง
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ