ในโลกปัจจุบัน การค้าระหว่างประเทศถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ประเทศไทยในฐานะประเทศหนึ่ง ที่ต้องอาศัยระบบเศรษฐกิจซึ่งพึ่งพา และสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ในโลก ย่อมต้องเตรียมตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าระหว่างประเทศ อันเกิดมาจากพลวัตปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของสภาพสิ่งแวดล้อม ที่ไม่อาจจะสามารถกำหนดได้ รวมถึงนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมต่างๆ
การเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม หรือสภาวะอากาศของทวีปต่างๆ ในโลก ส่งผลต่อประเทศไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมในทวีปยุโรป เรื่องปัญหามลพิษ และปัญหาขยะ นำไปสู่นโยบายของรัฐบาลต่างๆ ในทวีปยุโรปที่ลดการใช้ถุงพลาสติก หรือลดการสร้างขยะ รวมถึงเน้น และสนับสนุนให้ประชาชนบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แนวคิดดังกล่าวเช่นนี้ ถูกพัฒนาเป็นนโยบายทางการค้าของทวีปยุโรป ที่มีต่อระบบการค้าระหว่างประเทศ
ในแง่นี้ หากประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวให้สอดรับกับกฎ หรือความต้องการของรัฐบาลในทวีปยุโรป อันสืบเนื่องมาจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติได้แล้วนั้น ประเทศไทยและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย จะได้รับผลกระทบที่ตามมา ตัวอย่างเช่น การออกกฏหมายห้ามการใช้สารเคมีบางชนิด ที่ส่งผลต่อสภาวะทางอากาศของโลก ส่งผลให้สินค้าส่งออกทางการเกษตรที่สำคัญของไทย ที่ประกอบด้วยสารเคมีบางชนิด ต้องได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของนโยบายในลักษณะดังกล่าว
หากแนวนโยบายของรัฐบาลต่างๆ ในโลก มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยก็จำเป็นที่จะต้องปรับตัว ให้สอดคล้องกับแนวการเปลี่ยนแปลงของโลกในลักษณะดังกล่าว การส่งออก หรือการผลิตผลผลิตทางการเกษตรของประเทศไทย จะต้องคำนึงถึงเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ด้วย เช่น การใช้สารเคมี หรือการใช้ยาฆ่าแมลงในพืชผักผลไม้ของประเทศไทย อาจจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการส่งออกพืชผักผลไม้สู่ทวีปยุโรป หรือทวีปอเมริกา
ประเทศไทยและรัฐบาล จึงต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องไปกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกให้ได้อย่างทันท่วงที เพื่ออำนวยประโยชน์ให้เกิดแก่ประเทศไทย และเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม และแนวนโยบายของรัฐบาลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมได้อย่างสมบูรณ์
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ