มรดกโลก ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อมนุษยชาติเป็นอย่างมาก มรดกโลกคือ สิ่งซึ่งได้รับการพิจารณาแล้วว่า มีความสำคัญในแง่การสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของโลก และมนุษย์ชาติ นับตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน หน่วยงานที่ดูแลเรื่องมรดกโลกคือ องค์การยูเนสโก (UNESCO) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ในสหประชาชาติ แหล่งมรดกโลก (World Heritage Site) คือ พื้นที่ หรือจุดหลักที่ได้รับคัดเลือกจากยูเนสโก เนื่องด้วยเพราะมีลักษณะสำคัญทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือด้านอื่นๆ แหล่งมรดกโลกนี้ ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย ตามสนธิสัญญา
แหล่งมรดกโลกนั้น อาจจะพิจารณาได้สองแบบ กล่าวคือ มรดกโลกทางธรรมชาติ และมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในประเทศไทยนั้น มีแหล่งมรดกโลกที่สำคัญอยู่ 5 แห่ง โดยแบ่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ 2 แห่ง และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม 3 แห่ง อันประกอบด้วย
1. แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ 2 แห่ง
- เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ห้วยขาแข้ง ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ตาก และอุทัยธานี ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2534
- ป่าดงพญาเย็น เขาใหญ่ อยู่ในเขตจังหวัดสระบุรี นครราชสีมา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมือปี พ.ศ. 2548
2. แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม 3 แห่ง
- นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2534
- เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2534
- แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2535
ในปัจจุบันประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนรอการพิจารณาเป็นแหล่งมรดกโลกอยู่ทั้งหมดอีก 7 แห่งคือ
1. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
2. กลุ่มป่าแก่งกระจาน
3. วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช
4. อนุสรณ์สถานแหล่งต่าง ๆ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงล้านนา
5. พระธาตุพนม และสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้อง
6. กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด
7. เมืองโบราณศรีเทพ
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ