การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 149.6K views



ในการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์เราพบว่า นับตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โลกได้หมุนเวียนเปลี่ยนไปมากมาย เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งนับเป็นพัฒนาการที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยสามารถพิจารณาได้อย่างน้อยใน 3 มิติ กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ภาพ : shutterstock.com

1. การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

 สังคม คือ การอยู่รวมกันของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็คือ การเปลี่ยนแปลงในวิถีการอยู่ร่วมกันของมนุษยชาติ ซึ่งอาจมองเป็นพัฒนาการที่เป็นเส้นตรง หรืออาจมองเป็นวัฏจักรก็ได

ภาพ : shutterstock.com

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ขนาดของประชากร และการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ เป็นต้น 

สภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมมนุษย์เปลี่ยนจากการอพยพเร่ร่อนเพื่อหาแหล่งอาหารใหม่ มาเป็นสังคมเกษตรกรรมที่ลงหลักปักฐานอยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำ และทำให้สังคมมนุษย์เริ่มสะสมอาหารได้มาก ส่งผลให้เกิดการขยายขนาดของประชากรตามมา และเมื่อประชากรในสังคมมีความหนาแน่นมากจนถึงระดับหนึ่ง ก็จะเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบทไปสู่ความเป็นสังคมเมือง ส่งผลให้เกิดอาชีพใหม่ๆ ที่นอกเหนือไปจากการผลิตปัจจัย 4 เกิดความต้องการปัจจัยที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

เมื่อผ่านระยะเวลานานเข้า มนุษย์มีการพัฒนาองค์ความรู้ต่อยอดจากคนรุ่นก่อน สังคมจึงเปลี่ยนจากความล้าสมัยไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ เปลี่ยนจากสังคมเกษตรไปสู่สังคมอุตสาหกรรม และเปลี่ยนมาสู่สังคมดิจิทัลอย่างในปัจจุบัน การพัฒนาองค์ความรู้ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดความเชื่อแบบเก่า ไปสู่ความเป็นสังคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกด้วย

 

2. การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ คือ การแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ของประชากรในสังคม เมื่อสภาพของสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป การแลกเปลี่ยนทรัพย์สินหรือสิ่งของก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย

ภาพ : shutterstock.com

ในสมัยบรรพกาล มนุษย์ในสังคมใช้สิ่งของแลกกันโดยตรง โดยใช้สิ่งของที่เกินจำเป็นไปแลกของที่ยังขาด และด้วยความที่ของที่แลกมีความยากง่ายในการหามาต่างกัน จึงเกิดอัตราการแลกเปลี่ยนขึ้น นานเข้าก็มีการใช้ตัวกลาง หรือสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ซึ่งก็คือระบบเงินตราในยุคแรกเริ่ม และเมื่อสังคมขยายขนาด บวกกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง และความก้าวหน้าทางวิทยาการและองค์ความรู้ การหมุนเวียนเงินตราก็ถูกทำให้สะดวกขึ้น ตัวเงินเปลี่ยนจากสิ่งของในธรรมชาติมาเป็น เหรียญโลหะ กระดาษ และกลายเป็นข้อมูลดิจิทัลในปัจจุบัน

ในมิติด้านการดำรงชีพของมนุษย์ ก็เปลี่ยนจากการลงแรงเพื่อหาปัจจัย 4 มาดำรงชีวิตโดยตรง มาเป็นการผลิตเพื่อแลกเปลี่ยน เกิดระบบเงินตรา มีการซื้อขาย มีการจ้างงาน มีการเก็งกำไรส่วนต่าง และตามมาด้วยระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในที่สุด

ด้วยสภาพทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนอย่างในปัจจุบัน หากมองย้อนกลับไปในอดีต นับว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลกนั้นมาไกลจนมองไม่เห็นเค้าเดิมเลยทีเดียว

 

3. การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

การเมือง คือ กิจกรรมที่เกี่ยวกับการปกครอง หรือการดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์ มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในสังคมล้วนเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสิ้น เฉพาะมนุษย์ที่ดำรงชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพังในธรรมชาติเท่านั้น ที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ภาพ : shutterstock.com

ในยุคโบราณที่มนุษย์เริ่มรวมกลุ่มกันอยู่อาศัยนั้น มีความจำเป็นตามธรรมชาติ ที่จะต้องมีผู้นำทำหน้าที่จ่าฝูง คอยดูแลความปลอดภัย รักษาผลประโยชน์ร่วมของคนในชุมชน ต่อมาเมื่อชุมชนขยายขนาดใหญ่ขึ้น หน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยก็พัฒนาเป็นระบบที่ซับซ้อนมากขึ้น กลายเป็นการปกครองโดยราชา ซึ่งมีหน้าที่คอยรักษาความสงบเรียบร้อย ผดุงความยุติธรรมให้กับประชาชน และปกป้องอาณาเขต

อย่างไรก็ตาม ระบบ “ราชาธิปไตย” มิใช่ความเป็นไปได้เดียวของการปกครอง บางครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ ก็มีการโค่นอำนาจของราชา แล้วปกครองโดยชนชั้นสูงกลุ่มหนึ่งในสังคม ซึ่งนับเป็นการปกครองแบบ “อภิชนาธิปไตย” และก็มีการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่ของประชากรในสังคมซึ่งเรียกว่า “ประชาธิปไตย” ซึ่งเกิดขึ้นในกรีกโบราณเป็นแห่งแรก เท่าที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันในปัจจุบัน

การเมืองของสังคมโลกในหน้าประวัติศาสตร์นั้น ได้เปลี่ยนผ่านจากการปกครองแบบราชาธิปไตยที่ได้รับความนิยมในสมัยโบราณ มาเป็นประชาธิปไตยแบบในปัจจุบัน กล่าวได้ว่า เป็นการเปลี่ยนจากการเน้นความสำคัญในการเป็นรัฐ มาสู่การให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคลมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลจากความต้องการในการมีพื้นที่ มีตัวตนในทางการเมืองของคนในสังคมที่มากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลจากความก้าวหน้าทางวิทยาการ ที่ทำให้ประชากรในสังคมได้รับข่าวสาร ข้อมูล และความรู้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงอีกทอดหนึ่ง

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของโลกดังกล่าวมาแล้ว มีความเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก ต่างเป็นสาเหตุปัจจัยของกันและกันอยู่ในที การแยกศึกษาในมิติใดมิติหนึ่ง ไม่อาจทำให้เห็นภาพที่ถูกต้องหรือชัดเจนได้ การพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จึงต้องพิจารณาควบคู่กันไปเสมอ



เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ