ในการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์นั้น จะมีลำดับขั้นตอนของการศึกษาเป็นระบบแบบแผน เรียกว่า “วิธีการทางประวัติศาสตร์” โดยวางอยู่บนหลักการเช่นเดียวกันกับวิทยาศาสตร์ คือ การอาศัยการตีความจากประจักษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพื่อยืนยันหรือพิสูจน์ข้อสันนิษฐานต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งวิธีการทางประวัติศาสตร์นี้เอง ที่ทำให้ประวัติศาสตร์ต่างจากตำนาน หรือนิทานปรัมปรา
วิธีการทางประวัติศาสตร์ มี 5 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ตั้งประเด็นคำถาม หรือตั้งประเด็นในสิ่งที่สงสัย คือการตั้งประเด็นว่าจะศึกษาเรื่องอะไร เหตุการณ์อะไร ในยุคสมัยใด ซึ่งเป็นการกำหนดกรอบในการศึกษา
2. ค้นคว้าหาหลักฐานหรือข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราตั้งประเด็นเอาไว้ เป็นการค้นคว้าหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่ตั้งข้อสงสัยเอาไว้ ซึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์แบ่งได้เป็น หลักฐานชั้นต้น และหลักฐานชั้นรอง และยังแบ่งเป็นหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
3. ประเมินคุณค่าของหลักฐานหรือข้อมูล เรียกว่า “วิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์” อันหมายถึง การพิจารณาหลักฐาน และการตรวจสอบหลักฐานด้วยความละเอียดรอบคอบ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ขั้นตอนดังนี้
- การวิพากษ์ภายนอก คือ ขั้นตอนของการตรวจสอบหลักฐานจากรูปลักษณ์ทางกายภาพ โดยไม่ได้มุ่งเน้นถึงสวนที่เป็นเนื้อหารายละเอียดของหลักฐานนั้น จุดประสงค์ของการวิพากษ์ภายนอกคือ เพื่อคัดกรองหลักฐานที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่เราตั้งข้อสงสัยออกไป เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปโดยสะดวกขึ้น
- การวิพากษ์ภายใน คือ ขั้นตอนของการนำหลักฐานที่ผ่านการวิพากษ์ภายนอกแล้ว มาพิจารณาอีกรอบ ซึ่งจุดประสงค์ของการพิจารณาคือ เพื่อตรวจสอบเนื้อหาของหลักฐานนั้นๆ ว่า มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง หรือถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
4. การจัดลำดับและร้อยเรียงข้อมูล คือ การนำหลักฐานที่ผ่านการประเมินมาแล้ว มาวิเคราะห์และสังเคราะห์
- การวิเคราะห์ คือ การเอาข้อมูลหลักฐานมาแยกแยะ แจกแจงออกเป็นกลุ่ม และจัดกลุ่มเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกัน หรือเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันเอาไว้ในกลุ่มเดียวกัน
- การสังเคราะห์ คือ การนําข้อมูลหลักฐานที่ผ่านการวิเคราะห์แล้ว มาเรียงร้อยเชื่อมโยงให้เป็นเรื่องราวเดียวกัน มีความสอดคล้องต้องกันและเป็นเอกภาพ
5. การตีความและนำเสนอข้อมูล คือ การนำเอาหลักฐานที่ผ่านการวิเคราะห์และสังเคราะห์แล้ว มาตีความเพื่อยืนยัน หรือเพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยที่ได้ตั้งไว้แต่แรก และนำเสนอการตีความนั้น โดยการตีความต้องยืนอยู่บนหลักการของความเป็นเหตุเป็นผลเสมอ
อย่างไรก็ตาม มีข้อพึงระลึกไว้เสมอคือ แม้ว่าวิธีการทางประวัติศาสตร์จะมีความเป็นระบบระเบียบ น่าเชื่อถือมากเพียงใด แต่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ได้จากการตีความจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น ไม่ได้ให้ความแน่นอนอย่างสมบูรณ์ เพราะการตีความเป็นการคาดการณ์จากหลักฐานเท่านั้น มีความเป็นไปได้ว่า อาจมีการตีความที่สมเหตุสมผลมากกว่า 1 วิธีที่เป็นไปได้ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เดียวกัน
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ