อำนาจอธิปไตย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 325K views



อำนาจอธิปไตยเป็น 1 ใน 4 องค์ประกอบที่สำคัญ ของการบ่งชี้ถึงสภาพความเป็นรัฐ ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 4 นั้นประกอบไปด้วย พลเมือง อาณาเขต รัฐบาล และอำนาจอธิปไตย เมื่อมีครบทั้ง 4 ประการนี้ จึงจะถือว่าเป็นรัฐโดยสมบูรณ์

ภาพ : shutterstock.com

 

อำนาจอธิปไตย เป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐ ในแต่ละระบอบการปกครองนั้น ผู้ถืออำนาจอธิปไตยของรัฐจะแตกต่างกันไป ในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยถือว่าเป็นของปวงชน โดยยึดเอาเสียงส่วนใหญ่เป็นมติร่วม ในระบอบอภิชนาธิปไตยหรือคณาธิปไตย อำนาจสูงสุดจะอยู่ในมือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นอภิสิทธิ์ชน หรือตัวแทนของคนส่วนใหญ่ ส่วนในระบอบการปกครองแบบเผด็จการนั้น อำนาจอธิปไตยจะอยู่ในมือของผู้เผด็จการ ในขณะที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์

 

ในหลักการของประชาธิปไตยนั้น อำนาจอธิปไตยจะถูกแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ส่วน ประกอบด้วย

1. อำนาจบริหาร
อำนาจในการบริหารนั้นคือ อำนาจของผู้บริหาร ตัวอย่างเช่น นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ผู้ซึ่งใช้อำนาจนั้น ในการบริหารและการจัดการให้บ้านเมืองดำเนินไปอย่างสงบสุข

2. อำนาจนิติบัญญัติ
อำนาจนิติบัญญัตินั้นคือ อำนาจของรัฐสภา ผู้ใช้อำนาจนี้ในการออกกฎหมาย และมีอำนาจในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร

3. อำนาจตุลาการ
อำนาจตุลาการนั้นคือ อำนาจของศาล ผู้ซึ่งทรงสิทธิ์ในการใช้อำนาจอธิปไตย เพื่อพิจารณาอรรถคดีต่างๆ และออกคำสั่งในการบังคับโทษให้เกิดแก่ผู้กระทำผิด

การแบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 ส่วนเช่นนี้ เป็นหลักการที่สำคัญในเรื่องของการแบ่งแยกอำนาจในการปกครอง ออกเป็นการบริหาร การออกกฎหมาย และการพิจารณาตัดสินคดี แต่อย่างไรก็ตาม อำนาจอธิปไตยที่แสดงออกมาทั้ง 3 ประการนั้น ล้วนมีแก่นแท้ หรือเนื้อหาเดียวกัน อันว่าด้วยอำนาจในการปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมแห่งความชอบธรรมในการปกครองประเทศทั้งปวง


เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ