วัฒนธรรมในโลกตะวันออกรวม ถึงประเทศไทยนั้น ให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องการระวังไหวต่อความรู้สึกของผู้อื่นเป็นสำคัญ คำสอนเรื่องการมีมารยาทต่อผู้อื่น ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของโลกตะวันออก ในโลกตะวันออกนั้น ผู้น้อยย่อมเคารพผู้ใหญ่ น้องย่อมเคารพพี่ ลูกย่อมต้องเคารพบิดามารดา วัฒนธรรมดังกล่าวส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ที่ราบรื่น และแน่นแฟ้นระหว่างสมาชิกในสังคม
ในอีกทางหนึ่ง วัฒนธรรมดังกล่าว มิได้เพียงเสนอแนวทางในการปฏิบัติที่ผู้น้อยสมควรต้องปฏิบัติต่อผู้ใหญ่เท่านั้น ผู้ใหญ่เองก็ควรต้องตอบสนองต่อผู้น้อย ให้เสมือนกับต้นไม้ใหญ่ที่คอยปกป้องกันภัยด้วยเช่นกัน คือ พ่อแม่ย่อมดูแลบุตร พี่ย่อมปกป้องน้อง ผู้ใหญ่ย่อมให้อภัยและเมตตาแก่ผู้น้อย
แนวคิดเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งเป็นแนวคิดของโลกตะวันตกนั้น ปรากฏขึ้นในอารยธรรมตะวันออกผ่านทางวัฒนธรรม ที่สั่งสมสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน วัฒนธรรมดังกล่าวคือต้นแบบของแนวคิดที่ว่า การเคารพในสิทธิของปัจเจกบุคคลนั้น ต้องเป็นปฏิกิริยาตอบกลับแบบสองด้าน กล่าวคือ การเรียกร้องให้ผู้หนึ่งประพฤติ หรือปฏิบัติอย่างไรต่อตนเอง ก็เท่ากับการยอมรับในข้อปฏิบัติที่ตนเอง ต้องสนองตอบต่อบุคคลอื่นเหล่านั้นด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ความคาดหวังให้บุตรกตัญญูต่อบิดามารดา ก็เท่ากับว่า บิดามารดาควรประพฤติตนในฐานะที่เป็นบิดามารดาที่ดี เช่น การเลี้ยงดู การอบรมสั่งสอน ให้ความอาทรและห่วงใย เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า มโนทัศน์เรื่องการเคารพสิทธิของผู้อื่นนั้น ดำรงอยู่แล้วในวัฒนธรรมของสังคม ซึ่งดำรงอยู่มาอย่างยาวนานเช่นในวัฒนธรรมตะวันออก นานกว่าที่มโนทัศน์เรื่องสิทธิและเสรีภาพจะถือกำเนิดขึ้นมาในโลกตะวันตกเมื่อราวสองถึงสามร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ