ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 2.8K views



ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักปรัชญาที่สำคัญในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงเสนอแนะแนวทางในการปฏิบัติตนของประชาชนในประเทศไทย ให้ดำเนินอยู่บนหลักการเรื่องทางสายกลาง กล่าวคือ การไม่เน้นการใช้จ่าย หรือการบริโภคที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป ในแง่นี้ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงถือได้ว่า เป็นหลักปรัชญาที่สำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาของประเทศในยุคโลกาภิวัตน์ ที่นิยมการบริโภคกันอย่างมากเกินจำเป็น จนก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจในลักษณะต่างๆ

 

 

องค์ประกอบของหลักการเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมีองค์ประกอบ 3 ประการดังต่อไปนี้

1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไปในการบริโภค การใช้จ่ายที่ไม่ฟุ่มเฟือย หรือไม่อดออมจนมากเกินไป อีกทั้งการดำเนินชีวิตในทางเศรษฐกิจนั้น จะต้องไม่เบียดเบียนตัวเอง หรือเบียดเบียนผู้อื่นมากจนเกินไป

2. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจในการดำเนินชีวิต หรือการตัดสินใจในการใช้หลักการทางเศรษฐกิจนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล พิจารณาสาเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงนำมาสู่การไตร่ตรองถึงความจำเป็นหรือความสมเหตุสมผล

 3. ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวของประชาชนให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นพลวัตปัจจัย ไม่สามารถที่จะถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าได้ ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ประชาชนพึงจะระวังและเตรียมตัวไว้ก็คือ การเตรียมพร้อมหรือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองในแง่นี้ไปได้

เศรษฐกิจที่กล่าวมาทั้งสามประการนั้น ถูกและวางบนเงื่อนไขที่สำคัญสองประการ คือ เงื่อนไขความรู้ และเงื่อนไขคุณธรรม กล่าวคือการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะต้องได้รับการสนับสนุนด้วยองค์ความรู้ที่มีอยู่ด้วยวิชาการสาขาต่างๆ ประกอบกับเงื่อนไขเรื่องคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ความเพียร และการใช้สติปัญญาต่างๆ ในการดำเนินชีวิต เมื่อเข้าครบองค์ประกอบทั้ง 3 กับเงื่อนไขทั้งสองข้อดังกล่าวมานั้น เศรษฐกิจพอเพียงจึงถือเป็นหลักปรัชญาที่สำคัญ และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงในสภาวะทางเศรษฐกิจของโลกยุคปัจจุบัน


เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ