การบริโภค
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 7K views



ในวิชาเศรษฐศาสตร์ การบริโภค ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญ การบริโภค หมายถึงการใช้ทรัพยากรของมนุษย์ ในหลักการทางเศรษฐศาสตร์นั้น การบริโภคของมนุษย์อาจจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายประการ เช่น ความจำเป็น ความอยาก รสนิยมหรือค่านิยมในสังคม พฤติกรรมในการบริโภคของคนในสังคมนั้น ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชุมชนในระดับส่วนย่อย และในระดับประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาพ : shutterstock.com

 

ตัวอย่างเช่น หากประชาชนในประเทศนั้นมีค่านิยม หรือมีพฤติกรรมในการบริโภคสินค้าที่มีราคาสูง หรือสินค้าที่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ พฤติกรรมในการบริโภคดังกล่าวนั้น ก็จะส่งผลให้ปริมาณเงินในประเทศถูกจ่ายให้กับประเทศอื่นๆ เมื่อเป็นเช่นนั้น สภาวะการเงินในประเทศก็จะมีปัญหาในท้ายที่สุด

ในขณะที่พฤติกรรมการบริโภคของคนบางกลุ่ม อาจจะตกอยู่ในข่ายของการบริโภคที่น้อยเกินไป กล่าวคือ การไม่ซื้อสินค้าและบริการ โดยเน้นการผลิตหรือการบริโภคกันในครัวเรือน พฤติกรรมการบริโภคดังกล่าวนั้น ส่งผลให้ระบบการค้าขาย และระบบหมุนเวียนของเงินตราในประเทศเกิดอาการชะงักในทางการเงิน ปัญหาเหล่านี้เรียกว่า ภาวะเงินฝืด (Deflation)

ดังนั้น พฤติกรรมการบริโภคของคนในสังคม จึงส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ การวางโครงสร้างของพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนให้อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล ไม่มาก หรือน้อยเกินไป จึงเป็นหน้าที่หลักของรัฐบาลในการประคับประคองระบบเศรษฐกิจ ให้สามารถรอดพ้นจากหายนะในทางสุดโต่งทั้งสองทางดังที่กล่าวมาแล้วได้โดยสมบูรณ์

 

เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ