ประวัติของพุทธสาวกทั้งหลายนั้น ไม่ว่าจะเป็นภิกษุสงฆ์ หรือฆราวาส ล้วนประกอบด้วยคุณธรรม ความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต ใช้เป็นเครื่องเตือนสติได้ทั้งสิ้น เราจึงควรศึกษาประวัติของพุทธสาวกที่สำคัญๆ ให้พอเข้าใจไว้เป็นอย่างน้อย
ในพระพุทธศาสนา ปรากฏตัวอย่างของบุคคลผู้ซึ่งได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ หรือจากเหล่าคณะสงฆ์ ให้เป็นแบบอย่างของคุณงามความดีในด้านต่างๆ มากมาย ทั้งที่เป็นสมณะ และฆราวาส
ตัวอย่างของสมณะสงฆ์ที่ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าก็เช่น พระมหากัสสปะผู้ ซึ่งมีอาวุโสมากที่สุดภายหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงปรินิพพาน พระมหากัสสปะนี้ เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างในด้านธุดงควัตร 13 ประการ อีกทั้งยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ในการจัดการรวบรวม และเรียบเรียงคำสอนของพระพุทธองค์ให้ถูกต้อง และสมบูรณ์ หรือที่เรียกกันว่าการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรกด้วย
ในด้านฆราวาส ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงในพระพุทธศาสนาก็เช่น อนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้สร้างวัดเชตตะวันวิหาร เพื่อเป็นเครื่องบูชาแก่พระพุทธศาสนา และยังคงให้การสนับสนุนพระพุทธศาสนาในทุกรูปแบบ ท่านได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ จนกระทั่งได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน อนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้น ถือเป็นสาวกผู้เป็นเลิศในด้านการถวายทานอีกด้วย
พุทธสาวกและสาวิกาผู้เป็นเลิศในด้านต่างๆ นั้น มีคุณที่แตกต่างกันไป เช่น
- “พระอัญญาโกณฑัญญะ” เป็นเอตทัคคะ (เป็นผู้เลิศ) ในด้านรู้ราตรี (ภิกษุสาวกผู้อาวุโส)
- “พระสารีบุตร” เป็นเอตทัคคะในด้านมีปัญญา
- “พระมหาโมคคัลลานะ” เป็นเอตทัคคะในด้านมีฤทธิ์
- “พระมหากัสสปะ” เป็นเอตทัคคะในด้านธุดงควัตร
- “พระอนุรุทธะ” เป็นเอตทัคคะในด้านทิพยจักษุ
- “พระภัททิยกาฬิโคธาบุตร” เป็นเอตทัคคะในด้านผู้เกิดในตระกูลสูง
- “พระสีวลี” เป็นเอตทัคคะในด้านมีลาภมาก
- “พระวักกลิ” เป็นเอตทัคคะในด้านพ้นกิเลสได้ด้วยศรัทธา
- “พระราหุล” เป็นเอตทัคคะในด้านใฝ่เรียนรู้
- “พระอานนท์” เป็นเอตทัคคะในด้านเป็นพหูสูต เป็นผู้มีสติ เป็นผู้มีคติ เป็นผู้มีความเพียร เป็นผู้อุปัฏฐาก และ
- “พระอุบาลี” เป็นเอตทัคคะในด้านทรงจำพระวินัย
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ