ภูมิภาคเอเชีย ออสเตรเลีย และโอเชียเนีย เป็นภูมิภาคที่มีอาณาเขตติดกัน ในแง่นี้ การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น จึงส่งผลกระทบถึงกันและกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยลักษณะทางกายภาพของภัยพิบัติดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบเชื่อมโยงไปสู่หลากหลายประเทศ ความร่วมมือของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ทั้งในแนวพหุภาคี หรือแนวทวิภาคีระหว่างประเทศ จึงเป็นความจำเป็นในลำดับแรก สำหรับการต่อต้าน หรือการรับมือจากภัยพิบัติ
ในทวีปเอเชีย การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่สำคัญ ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นภัยพิบัติตามธรรมชาติอันร้ายแรงอย่างแผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิด ย่อมส่งผลให้เกิดการกระเพื่อมของคลื่นน้ำ ซัดเข้าสู่ชายฝั่งของออสเตรเลีย และดินแดนโอเชียเนีย
ในทางกลับกัน ควันไฟป่า ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากความแห้งแล้งของภูมิภาคออสเตรเลียนั้น ได้ล่องลอย และฟุ้งกระจายเข้าปกคลุมน่านฟ้า และส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชีย และโอเชียเนีย โดยไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้
ด้วยการเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ จึงส่งผลให้ภูมิภาคดังกล่าวนั้นไม่อาจที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติได้ การดำเนินชีวิตของมนุษย์ในภูมิภาคดังกล่าว จำเป็นต้องดำรงอยู่ภายใต้ความเข้าใจ และการปรับรูปแบบวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่รุนแรงนี้
กระนั้น แม้การหยุดยั้งการเกิดขึ้นของภัยพิบัติอาจจะไม่สามารถกระทำได้ แต่การบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติเป็นสิ่งที่สามารถเตรียมรับมือและเตรียมวางแผนได้ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของแต่ละประเทศ
ตัวอย่างเช่น การร่วมมือกันของรัฐบาลทั้งในเอเชีย และออสเตรเลีย เพื่อเฝ้าระวังการเกิดขึ้นของคลื่นสึนามิ ก่อนที่จะซัดเข้าสู่ชายฝั่ง ด้วยการเชื่อมโยงโครงข่ายสัญญาณเตือนภัย ให้กับประชาชนที่อยู่ในชายฝั่งของแต่ละประเทศ ที่ได้รับการคาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิดังกล่าว
หรือความร่วมมือของนานาประเทศ ที่ช่วยเหลือในการจัดการกับการรุกรานของไฟในทวีปออสเตรเลีย ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือของรัฐบาลนานาชาติ ในการช่วยเหลือแก้ไขกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติตามที่ได้กล่าวมา
นอกจากนั้น ภายหลังจากการผ่านพ้นของภัยธรรมชาติ การร่วมมือกันฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ที่สูญเสียไปจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติดังกล่าว ย่อมสามารถถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในความร่วมมือของประชาคมในภูมิภาคนี้ เพื่อช่วยจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน แนวคิดดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าความร่วมมือของชาติต่างๆ นั้น อาจจะมิได้จำกัดแต่เพียงเรื่องทางการค้า การทหาร หรือแต่เพียงความร่วมมือทางการเมือง โดยความร่วมมือเกี่ยวกับธรรมชาติ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในความร่วมมือที่สำคัญของโลกในยุคปัจจุบัน ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นเครื่องค้ำประกันความอยู่รอดของโลก และสภาวะแวดล้อม ดังนั้น ความร่วมมือเช่นนี้จึงถือได้ว่าเป็นความร่วมมือแบบยั่งยืนโดยแท้จริง
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ