ภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 4.5K views



ภูมิภาคที่ตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร เป็นภูมิภาคที่มีความอ่อนไหวในเรื่องของภัยธรรมชาติ  เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของสภาวะทางอากาศสูง ดังนั้น การให้ความรู้ และการให้ตัวแบบกับประชาชนหากเกิดกรณีภัยพิบัติต่างๆ ขึ้น จะช่วยลดความตื่นตระหนกของประชาชน ภายหลังจากการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งความตื่นตระหนกของประชาชนนี้เอง อาจจะถูกพิจารณาได้ว่าเป็นสาเหตุหลักแห่งการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่น้อยไปกว่าตัวเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติเลย

ภาพ : shutterstock.com

เอเชีย ออสเตรเลีย และโอเชียเนีย ถือเป็นภูมิภาคที่มีความอ่อนไหวในเรื่องของภัยธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ ภูมิภาคนี้ตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะทางอากาศ ตัวอย่างเช่น การเกิดพายุขนาดใหญ่เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพความกดอากาศ เช่น พายุไต้ฝุ่น ซึ่งมีความรุนแรง และก่อให้เกิดความเสียหายให้กับภูมิภาคนี้ การเปลี่ยนแปลงเรื่องการเกิดภัยพิบัติในเรื่องของความร้อน และความแห้งแล้ง

ภาพ : shutterstock.com

ในขณะที่ภูมิภาคออสเตรเลีย และในภูมิภาคเอเชียบางส่วน ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น หรือฟิลิปปินส์นั้น ก็ยังคงได้รับผลกระทบจากแนวการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก อันเนื่องจากประเทศในเขตดังกล่าว ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนที่สำคัญของโลก ซึ่งส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติในเรื่องภูเขาไฟระเบิด หรือแผ่นดินไหว ในขณะเดียวกัน แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวนั้น หากเกิดขึ้นในทะเล สามารถก่อให้เกิดการขยับไหวของคลื่นน้ำ จนนำไปสู่การเกิดขึ้นของคลื่นสึนามิพัดเข้าถล่มชายฝั่งได้ 

 

ดังนั้น การป้องกันภัยธรรมชาติดังกล่าว จึงดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะสามารถป้องกันได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เนื่องด้วยเพราะภัยธรรมชาตินั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคำนวณระยะเวลาที่จะเกิด หรือความรุนแรงได้อย่างถูกต้องชัดเจน ความรู้ของมนุษย์ที่มีนั้น อาจจะสามารถคำนวณได้เพียงระยะเวลา หรือความรุนแรงในระดับคร่าว ด้วยเหตุนี้ ในหลายประเทศจึงมีความเห็นร่วมกันว่า การป้องกันภัยธรรมชาติที่ดีที่สุดคือ การให้ความรู้กับพลเมืองและประชากรกร ความรู้ดังกล่าวจะทำให้ผู้ประสบภัยได้ทราบว่า ควรจะทำตัว หรือปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น

 

 เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ