ในการศึกษาวิชาภูมิศาสตร์นั้น เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ ถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ในลักษณะต่างๆ นั้น ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองกับความต้องการในการได้ความรู้ทางภูมิศาสตร์ ในแต่ละลักษณะที่แตกต่างกันไป ซึ่งเราสามารถแบ่งเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ออกได้เป็น 2 ชนิด คือ เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ประเภทให้ข้อมูล และเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ประเภทใช้หาข้อมูล
1. เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ประเภทให้ข้อมูล เช่น ลูกโลก แผนที่ กราฟ หรือแผนภูมิ
เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ในประเภทแรกนี้ เป็นเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการให้ความรู้ หรือการให้ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ชนิดต่างๆ ให้กับมนุษย์ ตัวอย่างเช่น แผนที่ เป็นเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ที่แสดงถึงอาณาเขต หรือขอบเขตของดินแดนต่างๆ ในขณะที่ลูกโลกนั้น เป็นการให้ข้อมูลของสภาพสัณฐานของโลกในบริเวณต่างๆ ทั้งในรูปแผ่นดินและมหาสมุทร
2. เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ประเภทใช้หาข้อมูล เช่น เข็มทิศ เครื่องมือวัดพื้นที่ เทปวัดระยะทาง เครื่องย่อขยายแผนที่ กล้องวัดระดับ หรือกล้องสามมิติ
เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ในประเภทที่สองนี้ คืออุปกรณ์ทางภูมิศาสตร์ ที่ถูกใช้เพื่อการแสวงหาข้อมูลทางภูมิศาสตร์ชนิดต่างๆ เช่น เข็มทิศ คืออุปกรณ์ที่ใช้ในการหาข้อมูลทางภูมิศาสตร์เกี่ยวกับทิศทาง ในขณะที่เครื่องย่อขยายแผนที่ คืออุปกรณ์ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการขยายอัตราส่วนของแผนที่ ให้มีขนาดที่กว้างขึ้นอย่างถูกต้องตามระบบอัตราส่วน และการย่อส่วนของแผนที่ ลงในระดับอัตราส่วนที่เสมอกันอย่างสมบูรณ์
เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ดังกล่าวทั้งสองประการนั้น ยังสามารถแบ่งแยกย่อยออกได้อีกหลายส่วน ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ทางภูมิศาสตร์เรื่องแผนที่ ยังสามารถแบ่งแยกย่อยออกได้เป็นแผนที่ในรูปแบบรัฐกิจ ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับขอบเขต หรืออาณาเขตของสถานที่ต่างๆ ที่ปรากฏบนพื้นโลก และแผนที่กายภาพที่เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะทางธรรมชาติ หรือสภาพภูมิประเทศของบริเวณต่างๆ บนพื้นโลก เช่น แม่น้ำ ทะเล ภูเขา ที่ราบ หรือที่ราบสูง เป็นต้น
การใช้เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ในลักษณะต่างๆ นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับเป้าหมาย และความต้องการของผู้ใช้ในการได้รับข้อมูล หรือการแสวงหาข้อมูลในลักษณะใด ในแง่นี้ การเข้าใจความหมายของอุปกรณ์ทางภูมิศาสตร์ในลักษณะต่างๆ นั้น จึงถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ต่อสภาพทางภูมิประเทศ และภูมิอากาศของโลกได้อย่างสมบูรณ์
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ