ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญจาก 2 อู่อารยธรรมโบราณ ซึ่งก็คืออารยธรรมจีน และอินเดีย กล่าวโดยเฉพาะวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับแนวคิด คติ และความเชื่อในเรื่องความเป็นจริงของโลก หรือก็คือศาสนา อารยธรรมอินเดียนับว่ามีอิทธิพลต่อภูมิภาคนี้มากที่สุด โดยศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธ ซึ่งมีต้นกำเนิดในอินเดียนั้น เป็นรากฐานทางวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึก และเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมในด้านต่างๆ รวมถึงวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชนชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะเห็นร่องรอยอารยธรรมที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดทางศาสนาทั้งสองได้อย่างเด่นชัด จากโบราณสถานต่างๆ ที่ตกทอดมา และได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกในปัจจุบัน
มรดกโลกทางวัฒนธรรมอันโดดเด่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดียอย่างศาสนาพราหมณ์ และพุทธ มีดังต่อไปนี้
ประเทศไทย
สุโขทัย และเมืองบริวาร
สุโขทัยเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของไทย มรดกแห่งนี้ ประกอบไปด้วยอุทยานประวัติศาสตร์ 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ทั้ง 3 แห่งมีโบราณสถานทางพุทธศาสนามากมาย ที่แสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นของศิลปะแบบไทยเมื่อราว 700 ปีก่อน โดยเฉพาะเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ และพระพุทธรูปแบบสุโขทัยที่อ่อนช้อยงดงาม
พระนครศรีอยุธยา และเมืองบริวาร
พระนครศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงแห่งที่สองของไทยต่อจากสุโขทัย อยุธยาได้รับอิทธิพลจากทั้งศาสนาพราหมณ์ และพุทธ โดยมีความเชื่อในเรื่องกษัตริย์ที่เป็นสมมติเทพ หรืออวตารของพระเป็นเจ้า ตามคติของศาสนาพราหมณ์ ในขณะเดียวกัน ก็นับถือพุทธศาสนาเถรวาทด้วย อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามีโบราณสถานจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วพระนคร ประกอบด้วยพระปรางค์ และวัดขนาดใหญ่ซึ่งแสดงถึงความรุ่งเรืองในอดีต
ประเทศกัมพูชา
นครวัด (Angkor Wat)
นครวัด หรืออังกอร์วัด สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 เป็นหมู่ปราสาทซึ่งเดิมเป็นเทวาลัยพระวิษณุนารายณ์ในศาสนาพราหมณ์ และต่อมาได้กลายเป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธแทน และยังมีสถานะเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรขอมโบราณด้วย
ปราสาทเขาพระวิหาร (Preah Vihear)
ปราสาทเขาพระวิหารเป็นเทวาลัยที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาพระศิวะ หนึ่งในเทพเจ้าสูงสุดของศาสนาพราหมณ์ ตั้งอยู่บนทิวเขาพนมดงรัก ระหว่างชายแดนไทยที่อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีษะเกษ และจังหวัดพระวิหารของกัมพูชา ปราสาทเขาพระวิหารมีสถาปัตยกรรมแบบเขมร เป็นศิลปะบันทายศรี คล้ายคลึงกับพระวิหารในหมู่ปราสาทที่นครวัด
ประเทศเวียดนาม
หมีเซิน (My Son)
นครหมีเซินเป็นกลุ่มศาสนสถานโบราณในศาสนาพราหมณ์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยของพระศิวะในสมัยอาณาจักรจามปา ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 4 ปัจจุบันตั้งอยู่ในจังหวัดกว๋างนามของเวียดนาม กลุ่มโบราณสถานประกอบด้วย ศาสนสถาน และสุสานโบราณของกษัตริย์จามปาในอดีต ปัจจุบันหลงเหลือซากโบราณสถานอยู่เพียงเล็กน้อย เพราะได้รับความเสียหายจากแรงระเบิดที่ทิ้งโดยสหรัฐในระหว่างสงครามเวียดนาม
ประเทศอินโดนีเซีย
บรมพุทโธ (Borobudur)
มหาสถูปบรมพุทโธ หรือโบโรบูดูร์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของเกาะชวา อยู่ใกล้กับเมืองย็อกยาการ์ตา เป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธมหายาน สร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 1293-1393 สถาปัตยกรรมเป็นแบบศิลปะฮินดู-ชวา สถูปสร้างขึ้นด้วยหินจำนวนกว่า 2 ล้านก้อน มีลักษณะเป็นทรงดอกบัว มีทั้งหมด 3 ชั้น
พรัมบานัน (Prambanan)
กลุ่มเทวาลัยพรัมบานันเป็นเทวาลัยของศาสนาพราหมณ์ที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ในเกาะชวากลาง ใกล้กับเมืองย็อกยาการ์ตา และบรมพุทโธ และสร้างขึ้นไล่เลี่ยกับบรมพุทโธเช่นกัน ภายในเทวาลัยประดับตกแต่งด้วยรูปสลักจากเรื่องรามายณะ หรือรามเกียรติ์ มหากาพย์สำคัญของศาสนาพราหมณ์
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ