ดวงดาวและระบบสุริยะ (ตะลุยโจทย์)
เอกภพ คือ บริเวณกว้างใหญ่ไพศาลไม่มีขอบเขต ประกอบด้วยกาแล็กซี (galaxy) หลายพันล้านกาแล็กซี แต่ละกาแล็กซีประกอบด้วยดาวฤกษ์หลายแสนล้านดวง
- ดาวฤกษ์ดวงหนึ่งในกาแล็กซีทางช้างเผือกคือ ดวงอาทิตย์ของเรา
- ดวงอาทิตย์ของเรามีดาวเคราะห์และวัตถุอื่น ๆ โคจรล้อมรอบ
ระบบสุริยะ
- มีดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลาง
- ระยะห่างจากดาวเคราะห์แต่ละดวงถึงดวงอาทิตย์มีความสัมพันธ์กับเวลาที่ใช้ในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ ยิ่งไกลจากดวงอาทิตย์มาก คาบการโคจรยิ่งมาก แต่ระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไม่มีความสัมพันธ์กับคาบการหมุนรอบตัวเองของดาวเคราะห์
- เรียงตามลำดับจากใกล้ดวงอาทิตย์ไปไกลดวงอาทิตย์ คือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส ดาวเนปจูน
- เรียงตามขนาดจากใหญ่ไปเล็ก คือ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส ดาวเนปจูน โลก ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพุธ
สาระน่ารู้
- ดาวพุธ อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ไม่มีชั้นบรรยากาศ ไม่มีดวงจันทร์เป็นบริวาร
- ดาวศุกร์ถูกเรียกว่าน้องสาวของโลก เพราะมีขนาดใกล้เคียงกัน แต่มีสภาพภูมิอากาศร้อนที่สุดเพราะชั้นบรรยากาศมีแก๊สเรือนกระจกซึ่งเก็บความร้อน ไม่มีดวงจันทร์เป็นบริวาร
- ดาวอังคารมีสีแดงส้ม มีภูเขาไฟที่สงบแล้วเยอะมาก มีดวงจันทร์ 2 ดวง
- ดาวพฤหัสบดีมีขนาดใหญ่ที่สุด มีวงแหวนเลือนราง
- ดาวเสาร์มีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ เห็นวงแหวนชัดเจน
- ดาวยูเรนัสมีสีฟ้า มีดวงจันทร์ 25 ดวง
- ดาวเนปจูนเป็นดาวสีน้ำเงินเข้ม อยู่ไกลดวงอาทิตย์มากที่สุด
- ดวงอาทิตย์ อยู่ห่างจากโลกประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร องค์ประกอบหลักคือ แก๊สไฮโดรเจนและฮีเลียม
- ดาวเคราะห์ มีรูปร่างเกือบเป็นทรงกลมโดยสมบูรณ์ ไม่เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์จนเกิดแสงสว่าง
- ดาวเคราะห์แคระ มีลักษณะคล้ายดาวเคราะห์ วงโคจรรอบดวงอาทิตย์ไม่ชัดเจน โดยดาวเคราะห์แคระที่ใหญ่ที่สุด คือ ดาวพลูโต
- ดาวเคราะห์น้อย เป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็ก อยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี มีจำนวนมาก จึงเรียกว่าแถบดาวเคราะห์น้อย
- ดาวหาง ประกอบด้วยน้ำแข็ง ฝุ่น หิน และแก๊สบางชนิด จึงถูกเรียกว่า ก้อนน้ำแข็งสกปรก ไม่มีแสงในตัวเอง โคจรรอบดวงอาทิตย์
- ดาวตกหรือผีพุ่งใต้ ชิ้นส่วนของดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยเคลื่อนที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก แล้วเกิดการลุกไหม้เป็นแสงสว่างวาบขึ้นมา
- อุกกาบาต วัตถุที่ลุกไหม้บนชั้นบรรยากาศไม่หมด แล้วตกสู่พื้นโลก
การบอกตำแหน่งดาว
เราสามารถบอกตำแหน่งของดาวฤกษ์ได้ มี 2 ขั้นตอน
ขั้นที่ 1 บอกมุมทิศเพื่อให้ทราบว่าต้องหันหน้าไปในทางทิศใด
ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 315 องศา |
ทิศเหนือ 0 องศา |
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 45 องศา |
ทิศตะวันตก 270 องศา |
ตัวเรา |
ทิศตะวันออก 90 องศา |
ทิศตะวันตกเฉียงใต้ 225 องศา |
ทิศใต้ 180 องศา |
ทิศตะวันออกเฉียงใต้ 135 องศา |
ขั้นที่ 2 บอกมุมเงยเพื่อให้ทราบว่าต้องเงยหน้าขึ้นกี่องศา
มองตรงไปที่เส้นขอบฟ้าเรียกว่ามุมเงย 0 องศา
เงยหน้าจนตั้งฉากกับพื้นเรียกว่ามุมเงย 90 องศา
ดังนั้น มุมเงยจึงมีค่าระหว่าง 0 องศาถึง 90 องศา
เราสามารถใช้มือเพื่อบอกมุมเงยในการระบุตำแหน่งของดวงดาวได้
แผนที่ดาว
- แผนที่ดาวของประเทศไทยเป็นแผนที่ดาวสำหรับละติจูด 10 - 20 องศาเหนือ
- หากสังเกตดาวที่ตำแหน่งอื่นจะต้องใช้แผนที่ดาวตำแหน่งอื่น
ขั้นตอนการใช้
- หมุนวันที่ปัจจุบันให้ตรงกับเวลาปัจจุบัน จะได้แผนที่ดาวในช่วงเวลานั้น
- แผนที่ดาวจะบอกเราว่าในเวลานั้นดาวที่เราต้องการหาอยู่ที่มุมทิศและมุมเงยกี่องศา
กลุ่มดาวจักรราศี
- โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยกลุ่มดาวฤกษ์ที่อยู่ด้านหลังของดวงอาทิตย์จะเปลี่ยนไปในแต่ละเดือน เช่น
เดือนมกราคม กลุ่มดาวแพะทะเลจะอยู่ด้านหลังดวงอาทิตย์ เราจึงไม่สามารถมองเห็นกลุ่มดาวแพะทะเลได้ แต่จะเห็นกลุ่มดาวปูที่อยู่ตรงข้ามกับกลุ่มดาวแพะทะเลขึ้นบนท้องฟ้ายาวนานที่สุดโดยใช้เวลาทั้งคืน (หรืออาจเป็นกลุ่มดาวใกล้เคียงอย่างกลุ่มดาวคนคู่หรือกลุ่มดาวสิงโต ที่ขึ้นบนท้องฟ้ายาวนานที่สุดขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ)
เดือนตุลาคม กลุ่มดาวที่อยู่ด้านหลังดวงอาทิตย์คือ กลุ่มดาวคันชั่งและกลุ่มดาวที่ขึ้นเป็นกลุ่มดาวแรกคือกลุ่มดาวแกะซึ่งจะอยู่บนท้องฟ้ายาวนานที่สุด (หรืออาจเป็นกลุ่มดาวใกล้เคียงกลุ่มดาวแกะที่ขึ้นบนท้องฟ้ายาวนานที่สุดขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ)
แพะทะเลกลุ่มดาวประจำเดือนมกราคม |
ปูกลุ่มดาวประจำเดือนกรกฎาคม |