การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 132.7K views



การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ คือการที่ประเทศตั้งแต่สองประเทศขึ้นไป ตกลงที่จะร่วมมือกันทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ โดยอาจเป็นดำเนินงานผ่านองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ตั้งขึ้นมา การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจมักเป็นการรวมกลุ่มของประเทศที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคเดียวกัน กระนั้น การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอาจเกิดขึ้นระหว่างประเทศที่อยู่ห่างไกลกัน แต่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างเดียวกันก็ได้ โดยมีความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา และรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน 

ภาพ : shutterstock.com

ในโลกยุคปัจจุบัน การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่สำคัญของการดำเนินเศรษฐกิจระหว่างประเทศของประเทศต่างๆ ลักษณะของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจนั้น ปรากฏในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ตามความสัมพันธ์ และความเหนียวแน่นของสมาชิก อาทิเช่น

- เขตการค้าเสรี มีการยกเว้นภาษีศุลกากรระหว่างกันในประเทศสมาชิก
- สหภาพศุลกากร มีการยกเว้นภาษีศุลกากรระหว่างกันในประเทศสมาชิก และประเทศสมาชิกต้องใช้ข้อกำหนดอัตราภาษีศุลกากรกับประเทศคู่ค้านอกกลุ่มในอัตราเดียวกัน
- ตลาดร่วม มีการยกเว้นภาษีศุลกากรระหว่างกันในประเทศสมาชิก ประเทศสมาชิกต้องใช้ข้อกำหนดอัตราภาษีศุลกากรกับประเทศคู่ค้านอกกลุ่มในอัตราเดียวกัน มีการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต ทุน แรงงาน อย่างเสรี
- สหภาพเศรษฐกิจ มีการยกเว้นภาษีศุลกากรระหว่างกันในประเทศสมาชิก ประเทศสมาชิกต้องใช้ข้อกำหนดอัตราภาษีศุลกากรกับประเทศคู่ค้านอกกลุ่มในอัตราเดียวกัน มีการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต ทุน แรงงาน อย่างเสรี นอกจากนี้ ยังให้ประเทศสมาชิกกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจต่างๆ เป็นรูปแบบเดียวกัน
- การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจแบบสมบูรณ์ มีการยกเว้นภาษีศุลกากรระหว่างกันในประเทศสมาชิก ประเทศสมาชิกต้องใช้ข้อกำหนดอัตราภาษีศุลกากรกับประเทศคู่ค้านอกกลุ่มในอัตราเดียวกัน มีการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต ทุน แรงงานอย่างเสรี ให้ประเทศสมาชิกกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจต่างๆ เป็นรูปแบบเดียวกัน ที่มากกว่านั้นคือ การที่ประเทศสมาชิกอยู่ภายใต้นโยบายทางการเมืองแบบเดียวกัน

 

ตัวอย่างขององค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญในโลก เช่น

- องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ทำหน้าที่ส่งเสริมการค้าเสรี และหามาตรการลดการกีดกันทางการค้า
- สหภาพยุโรป (The European Union : EU) มีการยกเว้นภาษีศุลกากรระหว่างกันในประเทศสมาชิก การเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต ทุน แรงงาน อย่างเสรี มีการใช้เงินตราในสกุลเดียวกัน คือ ยูโร
- ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement : NAFTA) ที่เน้นการขจัดอุปสรรคทางการค้าของกลุ่มประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา และเม็กซิโก
- ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเหนือ (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) มุ่งเน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการค้าในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
- องค์การของประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก (Organization of the Petroleum Exporting Countries : OPEC) เป็นการรวมกลุ่มของประเทศผู้ผลิตน้ำมันเป็นสินค้าออก เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการขายน้ำมัน ทั้งยังกำหนดราคาน้ำมัน และการผลิตน้ำมันได้

 

เรียบเรียงโดย : นำโชค อุนเวียง