โดยปกติแล้ว ตัวชี้วัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ นั้น มักที่จะชี้วัดด้วย ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) หรือ รายได้ต่อหัว (PCI) ปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญคือ ภาวะเงินเฟ้อ และภาวะเงินฝืด ซึ่งสามารถแก้ไขหรือบริหารจัดการได้ด้วย การคลังภาครัฐ ผ่านงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งสามารถจัดทำได้ 3 แบบคือ งบประมาณขาดดุล งบประมาณเกินดุล และงบประมาณสมดุล
การชี้วัดความเจริญของประเทศ
การชี้วัดความเจริญของประเทศต่างๆ ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น มักที่จะใช้ตัวชี้วัด หรือหลักเกณฑ์ที่เป็นสากล ดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross domestic product : GDP) คือ มูลค่าของสินค้า และบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมด ที่ผลิตขึ้นได้ในประเทศ ในช่วงระยะเวลา 1 ปี หรือ
2. ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross national product: GNP) คือ มูลค่าของสินค้า และบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมด ที่ผลิตขึ้นโดยทรัพยากรของประเทศ ในช่วงระยะเวลา 1 ปี หรือ
3. รายได้ต่อหัว (Per capita income : PCI) คือ ความสามารถในการผลิตสินค้า และบริการของประชาชนโดยเฉลี่ยต่อคน
ด้วยสภาพความเปลี่ยนแปลงไปของสภาวะทางเศรษฐกิจในลักษณะต่างๆ ก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญขึ้น 2 ประการคือ ปัญหาเรื่องเงินเฟื้อ และปัญหาเรื่องเงินฝืด ซึ่งมีคุณลักษณะที่ตรงกันข้ามกัน กล่าวคือ
ภาวะเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อ (Inflation) หมายถึง ภาวะที่ระดับราคาสินค้าโดยทั่วๆ ไปเพิ่มสูงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง สาเหตุที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อที่สำคัญมี 2 ประการ คือ
- สาเหตุที่เกิดจากแรงดึงของอุปสงค์ คือ การที่อุปสงค์โดยรวมสำหรับสินค้าและบริการ มีมากกว่าอุปทานโดยรวมของสินค้าและบริการ
- สาเหตุที่เกิดจากแรงผลักดันทางด้านอุปทาน คือ การที่อุปทานมวลรวมสำหรับสินค้าและบริการลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น อาจเป็นเพราะคนงานเรียกร้องค่าแรงเพิ่มขึ้น เมื่อต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตจะลดปริมาณการผลิตลง
ภาวะเงินเฟ้อส่งผลกระทบให้ อำนาจการซื้อลดลง เกิดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการคลังของรัฐบาล โดยเฉพาะในส่วนของดุลการชำระเงินของประเทศ
ภาวะเงินฝืด
เงินฝืด (Deflation) หมายถึง ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วๆ ไปลดลงเรื่อยๆ และต่อเนื่อง เป็นภาวะที่ประชาชนมีความสามารถที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้า และบริการได้น้อยกว่าปริมาณสินค้าและบริการที่มีอยู่
สาเหตุที่ทำให้เกิดเงินฝืดคือ ความต้องการซื้อสินค้าและบริการ มีน้อยกว่าปริมาณสินค้าและบริการที่ผลิตได้ หรือสินค้าขายไม่ออก ส่งผลให้ธุรกิจลดปริมาณการผลิต เกิดปัญหาการว่างงาน และทำให้รายได้ประชาชาติลดลงในที่สุด
ภาวะเงินฝืด ส่งผลให้สินค้าที่ผลิตได้ขายไม่ออก ผู้ผลิตต้องลดราคาสินค้าและบริการจนขาดทุน หรือได้รับกำไรน้อยลงงไม่คุ้มกับทุน ผู้ผลิตบางส่วนอาจเลิกการผลิต หรือลดปริมาณการผลิตลง จนเกิดปัญหาการว่างงานจำนวนมาก และเมื่อมีคนว่างงานจำนวนมาก สินค้าและบริการที่ผลิตออกมาก็ยิ่งขายไม่ออก ทำให้ระดับการผลิตและการจ้างงานลดต่ำลงไปอีก ในภาวะเช่นนี้ รายได้ของคนส่วนรวมจะลดต่ำลงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้
การคลังภาครัฐ
พื้นฐานทางการคลังนั้น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งหลักการที่สำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์เช่นกัน นโยบายเรื่องการคลัง หรือเรียกว่า การคลังภาครัฐ หรือการคลังสาธารณะนั้นคือ หลักการเรื่องรายรับ และรายจ่ายของภาครัฐ
ตัวอย่างของรายได้ของภาครัฐคือ รายได้จากภาษี รายได้จากการขายสิ่งของและบริการ รายได้จากการลงทุน รายได้อื่นๆ ประกอบด้วย ค่าแสตมป์ฤชา ค่าปรับ เงินรับคืน รายได้เบ็ดเตล็ดต่างๆ หรือรายได้ที่มาจาก เงินกู้ ประกอบด้วย การกู้เงินภายในประเทศ ได้แก่ ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล การกู้เงินจากต่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย เป็นต้น
ส่วนรายจ่ายของรัฐบาลนั้นก็ประกอบด้วย รายจ่ายจำแนกตามการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นรายจ่ายประจำปีที่สำคัญ หรือรายจ่ายจำแนกตามลักษณะงานและลักษณะเศรษฐกิจ ในแง่นี้ ความสัมพันธ์ระหว่างรายรับ และร่ายจ่ายของรัฐบาลนั้น คือเนื้อหาหลักที่สำคัญของโครงสร้างเรื่องงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งต้องเสนอผ่านรัฐสภา เพื่ออนุมัติมาเป็นแผนการปฏิบัติงานของรัฐสภา
ลักษณะของการจัดทำงบประมาณแผ่นดิน จัดทำได้ 3 ลักษณะดังนี้
- งบประมาณเกินดุล คือ การจัดทำงบประมาณแผ่นดินที่กำหนดให้ประมาณการรายได้ มากกว่างบประมาณรายจ่าย
- งบประมาณขาดดุล คือ การจัดทำงบประมาณแผ่นดินที่กำหนดให้ประมาณการรายได้ น้อยกว่างบประมาณรายจ่าย
- งบประมาณสมดุล การจัดทำงบประมาณแผ่นดินที่กำหนดให้ประมาณการรายได้ เท่ากับงบประมาณรายจ่าย หากเกิดความไม่สมดุลของรายรับและรายจ่าย รัฐบาลอาจจะต้องพิจารณากู้ยืมเงินเข้ามาชดเชย ซึ่งจะถือเป็นหนี้สาธารณะ อาจเป็นการกู้ยืมโดยตรง หรือมีการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาลก็ได้ ซึ่งแบ่งได้เป็นหนี้ภายในประเทศ และหนี้ภายนอกประเทศ
เรียบเรียงโดย : นำโชค อุ่นเวียง