แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 167.7K views



ประเทศไทยเริ่มพัฒนาประเทศทางเศรษฐกิจ ด้วยการวางแผนตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2504 จากการมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) โดยที่ภายหลังได้เพิ่มชื่อเป็น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำ คือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ โดยแผนฯ ตั้งแต่ฉบับที่ 9 วางอยู่บน ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ของในหลวงรัชกาลที่ 9

ภาพ : shutterstock.com

สาระสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่ละแผนฯ มีดังนี้

แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509)

สาระสำคัญ : การลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การสะสมทุนทางกายภาพ และเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2510-2514)

สาระสำคัญ : การเน้นกายขยายอัตราความเจริญทางเศรษฐกิจ การกระจายความเจริญไปทั่วประเทศ ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515-2519)

สาระสำคัญ : การขยายอัตราความเจริญทางเศรษฐกิจ การลดช่องว่างระหว่างรายได้และบริการทางสังคม มีนโยบายด้านประชากรเรื่อง การคุมกำเนิด

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524)

สาระสำคัญ : มุ่งการขยายการผลิตสาขาเกษตร ปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก รวมถึงกระจายรายได้ในภูมิภาค และเริ่มมีการสำรวจแหล่งพลังงานบริเวณอ่าวไทย

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529)

สาระสำคัญ : การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศ การปรับโครงสร้างทางการเกษตร ทางอุตสาหกรรม โครงสร้างการผลิต รวมถึงระดมความช่วยเหลือจากภาคเอกชน

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534)

สาระสำคัญ : มีการออกแผนหลักการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ มีการพัฒนาเมืองและพื้นที่เฉพาะ และการกระจายความเจริญไปสู่เมืองภูมิภาค

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539)

สาระสำคัญ : แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นการพัฒนาให้เกิดความสมดุลทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้านการกระจายรายได้ และด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544)

สาระสำคัญ : การเน้นคนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา การพัฒนาที่เน้นความสมดุลในด้านสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549)

สาระสำคัญ : มีการอัญเชิญปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนา ดำเนินการต่อเนื่องในเรื่องของการเน้นคนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา และการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศภายหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554)

สาระสำคัญ : มีดำเนินการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง มีวิสัยทัศน์ คือ สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559)

สาระสำคัญ : ดำเนินการพัฒนาต่อเนื่องจากแผนฯ ที่ 8-10 คือ การยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา นอกจากนี้ ยังกำหนดวิสัยทัศน์ประเทศ ในระยะ 5 ปี คือ สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)

สาระสำคัญ : การพัฒนาประเทศดำเนินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง

จัดทำบนพื้นฐานของกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) รวมทั้งการปรับโครงสร้างประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 เพื่อมุ่งสู่ “ความมั่งคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

 

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

 

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีหลักการสำคัญ 5 ประการ ดังนี้

1. ทางสายกลาง หมายถึง การตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น

2. ความสมดุลและความยั่งยืน หมายถึง มีความพอดี มีความยั่งยืน ร่วมกันปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3. ความพอประมาณอย่างมีเหตุผล หมายถึง ความไม่โลภ ไม่ฟุ้งเฟ้อ และมีเหตุผล

4. ภูมิคุ้มกันและรู้เท่าทันโลก หมายถึง มีความรอบคอบ รู้ทันการเปลี่ยนแปลง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกตลอดเวลา

5. การเสริมสร้างคุณภาพคน หมายถึง การมีจิตสำนึกในคุณธรรม จริยธรรม เอื้ออาทรต่อกัน รู้จักอดออม

 

เกษตรทฤษฎีใหม่

เป็นแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวข้องกับการจัดสรรแบ่งการใช้พื้นที่ และการใช้น้ำเพื่อการเกษตร เป็นการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติที่เห็นได้อย่างชัดเจน การจัดสรรพื้นที่ดินทำกินแบ่งได้ดังนี้

- พื้นที่ขุดสระ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ ร้อยละ 30
- พื้นที่ทำนาข้าว ร้อยละ 30
- พื้นที่ปลูกพืชไร่พืชสวน และเลี้ยงสัตว์ ร้อยละ 30
- พื้นที่สร้างที่อยู่อาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวก ร้อยละ 10

 

โดยมีการแบ่งสาระสำคัญตามระดับ ดังนี้

ขั้นที่ 1 เป็นความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัว มุ่งแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคและบริโภค และการจัดสรรที่ดินออกเป็นสัดส่วน

ขั้นที่ 2 เป็นความพอเพียงในระดับชุมชนและองค์กร มุ่งเน้นการรวมกลุ่มในรูปแบบของสหกรณ์ เพื่อแบ่งปันและช่วยเหลือกันในทางเศรษฐกิจ

ขั้นที่ 3    ความพอเพียงในระดับประเทศ มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจกับองค์กรอื่นๆ ในประเทศ เช่น ธนาคาร บริษัทขนาดใหญ่ สถาบันวิจัย

    

เรียบเรียงโดย : นำโชค อุนเวียง