ระบบเศรษฐกิจในโลกนี้มี 3 รูปแบบหลัก ประกอบด้วย ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม และระบบเศรษฐกิจแบบผสม ซึ่งแต่ละระบบจะเกี่ยวข้องกับเรื่องตลาด ว่ารัฐบาลจะให้เกิดการแข่งขันอย่างสมบูรณ์หรือไม่ กับเรื่องกลไกราคา คือ อุปสงค์ และอุปทาน รวมถึงเกี่ยวข้องกับการแทรกแซงราคาโดยรัฐ ว่ารัฐบาลสามารถจะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ หรือผู้บริโภคได้มากน้อยเพียงไร ด้วยวิธีการใด เมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
รูปแบบระบบเศรษฐกิจ
ระบบเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน หลักๆ ประกอบด้วย
1. ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism)
มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ระบบเสรีนิยม หรือระบบตลาด ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนี้ เอกชนสามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่างๆ ได้ โดยบทบาทของรัฐบาลกลาง คือ การทำหน้าที่ให้บริการทางสังคม ได้แก่ การป้องกันประเทศ การออกกฎหมาย เป็นต้น ผู้ผลิต และผู้บริโภค จึงมีอิสระทั้งในการเลือกผลิต และในการบริโภคได้อย่างเสรี โดยใช้กลไกราคา หรือกลไกตลาด ขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม คือ เอกชนมีเสรีภาพในการตัดสินใจดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยใช้กำไร และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เป็นแรงจูงใจในการดำเนินกิจการ
ส่วนเสียคือ ความแตกต่างทางความสามารถในการหารายได้ ระหว่างผู้ประกอบการในระบบ จะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รวมถึงมีการนำทรัพยากรมาใช้อย่างสิ้นเปลืองผ่านการทำตลาด อย่างการโฆษณาสินค้า
2. ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialism)
ในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม รัฐบาลจะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต โดยมีเป้าหมายเพื่อดำเนินการช่วยเหลือบุคคลที่มีรายได้น้อย ผ่านทางระบบสวัสดิการของรัฐ
ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบนี้คือ สามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างได้ผล
แต่ข้อเสียคือ การขาดความคล่องตัวในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจาก การเข้ามาควบคุมโดยรัฐบาล
3. ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy)
เป็นระบบเศรษฐกิจที่ผสมผสานการดำเนินงาน ระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และระบบเศรษฐกิจแบบผสม โดยการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ จะเป็นบทบาทของภาคเอกชน ตามกลไกราคา หรือกลไกตลาดในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนรัฐจะเข้ามากำกับดูแลในกิจการที่สำคัญ เช่น สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบผสม คือ การนำข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมมารวมเข้าไว้ด้วยกัน
ส่วนข้อเสียคือ ยังก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และการแทรกแซงกลไกราคาโดยรัฐ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจตามมาได้
ตลาด
ความหมายของ “ตลาด” ในทางเศรษฐศาสตร์คือ การที่ผู้ซื้อ และผู้ขาย ตกลงซื้อขายสินค้าและบริการ ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องมีสถานที่จริงๆ เพราะอาจทำผ่านระบบออนไลน์ได้
เราสามารถแบ่งประเภทของตลาดได้ดังนี้
1. ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition Market)
เป็นตลาดที่มีผู้ซื้อและผู้ขายเป็นจำนวนมาก ลักษณะของสินค้ามีความเหมือนกันทุกประการ จนสามารถใช้แทนกันได้อย่างสมบูรณ์ ผู้ผลิตสามารถเข้าออกตลาดได้อย่างเสรี
ตัวอย่างสินค้าในตลาดแบบนี้ ก็เช่น สินค้าทางการเกษตร
2. ตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ (Imperfect Competition Market)
เรียกง่ายๆ ว่า ตลาดผูกขาด (Monopoly) เป็นตลาดที่มีผู้ผลิต หรือผู้ขายเพียงรายเดียว ในการขายสินค้าที่หาสินค้าอื่นมาทดแทนได้ยาก จึงทำให้ผู้ผลิตรายใหม่เข้ามาผลิตแข่งขันได้ยาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้
ตัวอย่างสินค้าในตลาดแบบนี้ ก็เช่น ไฟฟ้า ประปา รถไฟ
3. ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic Competition Market)
เป็นตลาดที่มีการแข่งขันจากผู้ผลิตหลายราย สินค้าสามารถใช้ทดแทนกันได้ อาจมีความแตกต่างบ้างในแง่ของบรรจุภัณฑ์ การโฆษณา ผู้ผลิตรายใหม่สามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดได้ง่าย
ตัวอย่างสินค้าในตลาดแบบนี้ ก็เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป ปากกาลูกลื่น ร้านอาหาร
4. ตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly)
เป็นตลาดที่มีผู้ขายสินค้า หรือบริการจำนวนน้อย แต่ละรายมีอำนาจในการผูกขาดระดับหนี่ง สินค้าอาจเหมือนกัน หรือแตกต่างกันก็ได้ โดยผู้ผลิตรายใหม่สามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดได้ยาก
ตัวอย่างสินค้าในตลาดแบบนี้ ก็เช่น ปูนซีเมนต์ รถยนต์ หนังสือพิมพ์
กลไกราคา
กลไกราคา หรือกลไกตลาด เป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และระบบเศรษฐกิจแบบผสม เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างอุปสงค์ และอุปทาน
- อุปสงค์ (demand) หมายถึง ความต้องการซื้อสินค้าใดสินค้าหนึ่งที่ผู้บริโภคมี ณ ระดับราคาต่างๆ เมื่อปัจจัยอื่นๆ คงที่ โดยอุปสงค์ต้องมีอำนาจซื้อ โดยที่อุปสงค์ประกอบด้วย ความต้องการซื้อ ความสามารถในการซื้อ และความเต็มใจที่จะจ่าย
กฎของอุปสงค์ (Law of Demand) แปรผกผันกับราคา กล่าวคือ
ถ้าราคาสูง ส่งผลให้ อุปสงค์ต่ำ ซึ่งจะทำให้ราคาลดลงในที่สุด
ถ้าราคาต่ำ ส่งผลให้ อุปสงค์สูง ซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นในที่สุด
- อุปทาน (supply) หมายถึง ปริมาณเสนอขายสินค้าที่ผู้ผลิตเต็มใจทำการผลิต ณ ระดับราคาต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด โดยที่อุปทานประกอบด้วย ความต้องการขาย ความสามารถที่จะเสนอขาย และความเต็มใจที่จะเสนอขาย
กฎของอุปทาน (Law of Supply) แปรผันตรงกับราคา กล่าวคือ
ถ้าราคาสูง ส่งผลให้ อุปทานสูง ซึ่งจะทำให้ราคาลดลงในที่สุด
ถ้าราคาต่ำ ส่งผลให้ อุปทานต่ำ ซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นในที่สุด
กลไกราคา จึงเปรียบได้กับ “มือที่มองไม่เห็น (Invisible Hand)” ที่ช่วยปรับสมดุลให้กับตัวอุปสงค์ และอุปทาน โดยผ่านราคา
การแทรกแซงราคาโดยรัฐ
เนื่องจากในความเป็นจริง ระบบตลาดไม่ได้ถูกขับเคลื่อนโดยมือที่มองไม่เห็นตามกลไกตลาด แต่ผู้ที่มีทุนมาก สามารถกำหนดตลาดให้เป็นไปตามทิศทางที่ต้องการได้ จนเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ อย่างที่เห็นในประเทศที่อ้างว่าใช้ระบบตลาดเสรีทั่วๆไป อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ หรือหลายประเทศในยุโรปตะวันตก
ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จากความไม่ยุติธรรมของกลไกตลาด รัฐบาลจึงอาจแก้ไขด้วยการเข้าแทรกแซงราคา เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ซึ่งสามารถใช้มาตรการได้หลายรูปแบบตามแต่สถานการณ์ ดังนี้
- การกำหนดราคาขั้นต่ำ เป็นมาตรการที่รัฐจะใช้เมื่อราคาสินค้าต่ำกว่าราคาตลาด หรือราคาดุลยภาพ จึงต้องกำหนดราคาให้สูงกว่าราคาตลาด มักเป็นมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในการพยุงราคาพืชผลทางการเกษตร โดยรัฐบาลอาจรับซื้อผลผลิตส่วนเกิน หรือให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรในส่วนที่ขายได้น้อยกว่าราคาประกัน
- การกำหนดราคาขั้นสูง เป็นมาตรการที่รัฐจะใช้เมื่อราคาสินค้าสูงกว่าราคาตลาด หรือราคาดุลยภาพ จึงต้องกำหนดราคาให้ต่ำกว่าราคาตลาด คือไม่ให้สูงเกินไป มักเป็นมาตรการช่วยเหลือผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย หรือใช้ในช่วงของการเกิดเงินเฟ้อ เกิดสงคราม เกิดการขาดแคลนสินค้าและบริการ
- การเก็บภาษี เป็นมาตรการที่รัฐต้องการเพิ่มปริมาณ หรือลดการบริโภคสินค้าบางประเภท ตัวอย่างเช่น หากรัฐต้องการส่งเสริมให้บริโภคสินค้าบางอย่างมากขึ้น เช่น น้ำมันไบโอดีเซล ก็ใช้การลดภาษี หรือยกเว้นภาษีให้แก่สินค้าที่ต้องการส่งเสริม ในทางตรงกันข้าม หากรัฐต้องการส่งเสริมให้บริโภคสินค้าบางอย่างลดลง เช่น เหล้า บุหรี่ ก็ใช้การเพิ่มภาษีเพื่อให้สินค้าราคาสูงขึ้น
เรียบเรียงโดย : นำโชค อุ่นเวียง