ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 73.9K views



ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ เป็นวิชาภูมิศาสตร์แขนงหนึ่ง ศึกษาถึงประเภทและลักษณะของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวกับการครองชีพของมนุษย์ ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติ การผลิต และการใช้ รวมถึงประเด็นเรื่อง โลกาภิวัตน์กับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์วัฒนธรรม และเชื้อชาติ

ภาพ : shutterstock.com

ประเภทและลักษณะของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

กิจกรรมทางเศรษฐกิจประกอบด้วยกิจกรรม 3 ประเภท คือ การผลิต การแลกเปลี่ยนและการบริการ และการบริโภค ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ขั้นคือ

- กิจกรรมทางเศรษฐกิจขั้นปฐมภูมิ (Primary Economic Activities) เป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมมาใช้ประโยชน์โดยตรง เช่น การเก็บเกี่ยวผลผลิตจากธรรมชาติ การเกษตร การล่าสัตว์ การเก็บของป่า การทำป่าไม้ การทำเหมืองแร่ การประมง เป็นต้น

- กิจกรรมทางเศรษฐกิจขั้นทุติยภูมิ (Secondary Economic Activities) เป็นการนำวัตถุดิบมาแปลงสภาพ หรือแปรรูป ด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นขั้นตอน ให้เป็นผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าที่มีมูลค้าสูงขึ้น เช่น กิจการอุตสาหกรรม หัตถกรรม การผลิตพลังงาน การก่อสร้าง

- กิจกรรมทางเศรษฐกิจขั้นตติยภูมิ (Tertiary Economic Activities) เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำผลผลิต หรือสินค้าที่ได้จากการผลิตในขั้นทุติยภูมิ มาแจกจ่าย หรือเคลื่อนย้ายไปยังแหล่งตลาด หรือผู้บริโภค เช่น การค้าส่ง การค้าปลีก การค้าภายในประเทศ การค้าระหว่างประเทศ การตลาด การท่องเที่ยว

 

โลกาภิวัตน์กับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ

โลกาภิวัตน์ คือ การที่ประชาคมโลก ไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใด สามารถรับรู้ สัมพันธ์ หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในอีกมุมโลกอย่างรวดเร็ว กว้างขวาง อันเป็นผลมาจากการพัฒนาระบบสารสนเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ผลของปรากฏการณ์โลกาภิวัฒน์ต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แบ่งได้ 2 ปัจจัย

1. นวัตกรรมทางเทคโนโลยี เกิดเทคโนโลยีด้านการขนส่ง และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

2. การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและนโยบายทางเศรษฐกิจ เกิดการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศ นโยบายผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ และการกำเนิดของบรรษัทข้ามชาติ

 

แนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในยุคโลกาภิวัตน์นั้น ก็มี 2 ด้าน

- การเปลี่ยนแปลงด้านอุปทาน คือฝั่งผู้ผลิตและ/หรือผู้ค้า เกิดความสะดวกและคล่องตัวในการผลิตจากการพัฒนาระบบโซ่อุปทาน เกิดความหลากหลายของช่องทางการจำหน่ายสินค้า และเกิดความคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายเงินทุน สินค้า และแรงงาน

- การเปลี่ยนแปลงด้านอุปสงค์ของผู้บริโภค เกิดความหลากหลายของสินค้าเพื่อการบริโภค ก่อให้เกิดความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงเกิดการพัฒนาระบบการค้าและการบริการเพื่อตอบสนองความพึงพอใจของผู้บริโภคในระดับปัจเจก

 

กระนั้น ก็มีข้อเสียของโลกาภิวัตน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจตามมาด้วย คือ เกิดการผลิตที่ฟุ่มเฟือย ทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ และเกิดความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากกระบวนการผลิต ข้อเสียอีกด้านคือ เกิดการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย คือ การซื้อของเกินความจำเป็น รวมถึงเกิดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลมาจากการบริโภคมากเกินไป

 

ภูมิศาสตร์วัฒนธรรม

มีลักษณะคล้ายกับภูมิศาสตร์มนุษย์ โดยเป็นการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบการดำรงชีวิตของมนุษย์ในถิ่นต่างๆ ของโลก เป็นต้นว่า

- การปรับตนเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อม

- ระดับความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการ

- การใช้ที่ดินแบบต่างๆ

- ลักษณะความแตกต่างทางเศรษฐกิจ สังคม (เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และอื่นๆ) การปกครอง

ภาพ : shutterstock.com

 

 

เชื้อชาติ (race)

กลุ่มเชื้อชาติ คือ ประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีความใกล้ชิดกันทางชีวภาพ มีรูปลักษณ์ภายนอกคล้ายคลึงกัน ลักษณะดังกล่าวจะถ่ายทอดจากช่วงอายุคนหนึ่ง ไปอีกช่วงอายุคนถัดไป แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ดังนี้

1. กลุ่มเชื้อชาติคอเคซอยด์ ประกอบด้วย

- กลุ่มนอร์ดิก อาศัยทางตอนเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปยุโรป เช่น ประชากรในนอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก

- กลุ่มอัลไพน์    อาศัยบริเวณเทือกเขาแอลป์ในภูมิภาคยุโรปกลาง และทางเหนือของภูมิภาคยุโรปใต้ เช่น ประชากรในตอนใต้ของเยอรมนี ตอนกลางของฝรั่งเศส ตอนเหนือของอิตาลี สวิสเซอร์แลนด์ และออสเตรีย

- กลุ่มเมดิเตอร์เรเนียน อาศัยรอบๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เช่น ประชากรในโปรตุเกส สเปน อิตาลี กรีซ

- กลุ่มบอลติก    ได้แก่ ประชากรของรัสเซีย บัลแกเรีย สาธารณรัฐเช็ก ลัตเวีย และลิทัวเนีย

- กลุ่มตูเรเนียน     ได้แก่ ประชากรของตุรกี และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ เช่น อิสราเอล อิรัก อิหร่าน จอร์แดน อัฟกานิสถาน

- กลุ่มเฮมิติกและเบอร์เบอร์ อาศัยอยู่บริเวณตอนเหนือของทะเลทรายสะฮารา ในทวีปแอฟริกา

- กลุ่มอินดิก อาศัยอยู่ทางเหนือของประเทศอินเดีย ภาคเหนือของประเทศปากีสถาน ตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเมียนมา

 

2. กลุ่มเชื้อชาติมองโกลอยด์ ประกอบด้วย

- กลุ่มมองโกลอยด์โบราณ ได้แก่ ชาวทิเบต มองโกเลีย จีน เกาหลี ไซบีเรีย และญี่ปุ่น

- กลุ่มอาร์กติกมองโกลอยด์ คือพวกเอสกิโม ที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกของไซบีเรีย ตะวันตกของรัฐอะแลสกา หมู่เกาะและเขตชายฝั่งอาร์กติกของแคนาดา เกาะกรีนแลนด์ ซามีหรือแลปป์ในสแกนดิเนเวีย อีเวนติในมองโกเลีย และไซบีเรีย

- กลุ่มอินโด-มาลายู ได้แก่ ประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ชาวเมียนมา ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์

- กลุ่มอเมริกันอินเดียน คือ ชาวอินเดียนในทวีปอเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ มีหลากหลายกลุ่ม อาทิ เชโรกี โมฮอค อินคา มายา แอชเต็ก

 

3. กลุ่มเชื้อชาตินีกรอยด์ ประกอบด้วย

- แอฟริกันนีกรอยด์ อาศัยทางตอนใต้ของทะเลทรายสะฮารา ในทวีปแอฟริกา

- นีกรอยด์ คือพวกที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย หมู่เกาะในทะเลอันดามัน เกาะสุมาตรา ประเทศมาเลเซีย ประเทศฟิลิปปินส์

 

4. กลุ่มเชื้อชาติออสตราลอยด์

คือพวกแอบอริจินี ในประเทศออสเตรเลีย เวดดา ในประเทศศรีลังกา ดราวิเดียน ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย

 

5. กลุ่มเชื้อชาติโพลีนีเซีย ประกอบด้วย

- กลุ่มโพลีนีเซีย อาศัยบริเวณหมู่เกาะทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่ประเทศนิวซีแลนด์ ไปทางตะวันออกจนถึงหมู่เกาะอีสเตอร์ รวมถึงชาวเมารี ในประเทศนิวซีแลนด์

- กลุ่มเมลานีเซีย อาศัยบริเวณหมู่เกาะทางตะวันออกของเกาะนิวกินี

- กลุ่มไมโครนีเซีย อาศัยบริเวณหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยอยู่ทางเหนือของกลุ่มเมลานีเซีย


เรียบเรียงโดย : นำโชค อุนเวียง