ภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 71.7K views



ภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Natural disaster) เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สิน ส่งผลต่อสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และจิตใจของผู้ประสบภัย ภัยพิบัติทางธรรมชาติจำแนกเป็น 4 ลักษณะได้แก่ ภัยพิบัติด้านธรณีภาค ภัยพิบัติด้านบรรยากาศภาค อุทกภัย และไฟป่า

ภาพ : shutterstock.com

ภัยพิบัติด้านธรณีภาค

เป็นภัยธรรมชาติที่เกิดจากกระบวนการทางธรณีวิทยาที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันและรุนแรง เช่น

- แผ่นดินไหว อาจเกิดจากการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก หรือการปะทุของภูเขาไฟ บริเวณที่พบการเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ได้แก่ วงแหวนไฟในมหาสมุทรแปซิฟิก แนวกลางมหาสมุทรแอตแลนติก เราสามารถตรวจวัดแผ่นดินไหวได้โดยใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า Seismograph

- สึนามิ เป็นคลื่นขนาดใหญ่ที่มีพลังมาก และเคลื่อนตัวด้วยความเร็ว 700-800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เกิดจากการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงใต้พื้นทะเลและมหาสมุทร บริเวณที่เกิดสึนามิจึงเป็นแนวเขตแผ่นดินไหวของโลก เช่น มหาสมุทรแอตแลนติก และบริเวณวงแหวนไฟในมหาสมุทรแปซิฟิก ประเทศไทยเคยเกิดสึนามิครั้งรุนแรงเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 สร้างความเสียหายบริเวณชายฝั่งทะเลด้านอันดามันในหลายจังหวัด

- ภูเขาไฟปะทุ เกิดจากแมกมาภายในโลกและแรงอัดของแก๊ส ดันแทรกขึ้นมาตามปากปล่องภูเขาไฟ หรือรอยแตกของเปลือกโลก แล้วมีลาวาไหลออกมา ในโลกนี้มีภูเขาไฟทั้งบนทวีปและใต้ท้องทะเล ตัวอย่างการปะทุของภูเขาไฟในปัจจุบันได้แก่ ภูเขาไฟเมอราปี ในประเทศอินโดนีเซีย และภูเขาไฟฟูเอโก ในประเทศกัวเตมาลา ภูเขาไฟที่เก่าแก่ที่สุดของไทยอยู่ในจังหวัดเลย ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทไปแล้ว

- ดินถล่มหรือโคลนถล่ม เกิดจากการเคลื่อนที่ของมวลดินและหินลงมาตามลาดเขา อาจมีน้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง ดินถล่มมักเกิดบริเวณที่มีความสูงลาดชัน และบริเวณไหล่เขาที่มีพืชปกคลุมเบาบาง หรือหน้าผาหินชนิดผุพังง่าย ตัวอย่างเช่น การเกินดินถล่มที่จังหวัดเพชรบูรณ์ส่งผลให้เส้นทางถูกปิด

 

ภัยพิบัติด้านบรรยากาศภาค

เป็นภัยธรรมชาติที่เกิดลมฟ้าอากาศและภูมิอากาศ เช่น

- พายุหมุนเขตร้อน เรียกชื่อตามความเร็วลมรอบศูนย์กลาง คือ พายุดีเปรสชัน มีความเร็วลมไม่เกิน 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง, พายุโซนร้อน มีความเร็วลมตั้งแต่ 63-117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง, พายุไต้ฝุ่น พายุไซโคลน พายุเฮอริเคน มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางมากกว่า 117 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป

- ทอร์นาโด เป็นพายุท้องถิ่นที่มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง ก่อให้เกิดความเสียหายในระดับรุนแรง ทอร์นาโดส่วนใหญ่พบในประเทศสหรัฐอเมริกามากกว่าบริเวณอื่นๆ ในโลก ทอร์นาโดอาจก่อให้เกิดพายุขนาดรุนแรงที่สามารถพัดรถปลิวขึ้นไปห่างจากจุดเดิมหลายช่วงตึกได้

- ภัยแล้ง เกิดขึ้นชั่วคราว จากการขาดแคลนน้ำครอบคลุมพื้นที่กว้าง มีสาเหตุมาจากฝนไม่ตกตามฤดูกาล ฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง กระทบต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และปริมาณน้ำในการทำการเกษตรกรรม

 

อุทกภัย

หรืออุทกภัย เป็นภัยที่เกิดจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน หรือน้ำท่วม ส่งผลเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ฝนตกสะสมเป็นเวลานานจนกระทั่งน้ำระบายออกไม่ทัน หรือเกิดจากหิมะละลาย หรือคลื่นทะเลสูงซัดขึ้นฝั่ง การเกิดอุทกภัยมี 3 ลักษณะ คือ น้ำในแม่น้ำล้นตลิ่งเมื่อมีฝนตกหนัก, น้ำท่วมขังจากการที่ฝนตกหนัก, น้ำป่าไหลหลากบริเวณภูเขา

 

ไฟป่า

ไฟป่าอาจเกิดจากฟ้าผ่า, กิ่งไม้เสียดสีกัน, การเผาไร่นาหลังเก็บเกี่ยว, การเก็บหาของป่า ลักษณะของไฟป่าแบ่งเป็น ไฟผิวดิน, ไฟใต้ดิน, ไฟเรือนยอด ตัวอย่างไฟป่าครั้งรุนแรงได้แก่ ไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

 

การจัดการภัยพิบัติ

สำหรับการจัดการภัยพิบัติของภาครัฐ ก่อนเกิดภัยพิบัติคือ การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเฝ้าระวังภัยพิบัติ ขณะเกิดภัยพิบัติคือ การจัดตั้งศูนย์อำนวยการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารภัยพิบัติ และหลังเกิดภัยพิบัติคือ การจัดตั้งหน่วยงานดูแลและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ

สำหรับในภาคประชาชน ควรมีการปฏิบัติตนทั้งก่อนเกิด ขณะเกิด และหลังเกิดภัยพิบัติดังนี้ คือ การศึกษาวิธีการเอาชีวิตรอดจากภัยพิบัติ การหลีกเลี่ยงบริเวณที่เสี่ยงภัย การเฝ้าติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติอย่างใกล้ชิด และการตรวจสอบความปลอดภัยของที่พักภายหลังเหตุการณ์


 

เรียบเรียงโดย : นำโชค อุนเวียง