ภูมิศาสตร์กายภาพ เป็นการศึกษาระบบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความสัมพันธ์ของระบบเหล่านั้น การศึกษาภูมิศาสตร์กายภาพแบ่งเป็น ธรณีภาค บรรยากาศภาค อุทกภาค และชีวภาค โดยที่สิ่งแวดล้อมต่างๆ เหล่านี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันเป็นระบบ และยังมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์อีกด้วย มนุษย์จึงควรศึกษาเพื่อการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม และดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม
ธรณีภาค (Lithosphere)
เป็นส่วนของโลกที่เป็นของแข็ง อยู่ชั้นนอกสุดของโลก แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ แผ่นธรณีมหาสมุทร กับแผ่นธรณีทวีป การเคลื่อนที่ของแผ่นธรณีภาคก่อให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาแบบต่างๆ แบ่งการเคลื่อนที่ออกเป็น 3 ประเภทดังนี้
1. การเคลื่อนที่เข้าหากัน เกิดเป็นแนวภูเขาไฟ เกิดเป็นแนวเกาะภูเขาไฟในมหาสมุทร เกิดเป็นแนวเทือกเขาสูงแนวยาว
2. การเคลื่อนที่แยกออกจากกัน เกิดเป็นสันเขากลางมหาสมุทร
3. การเคลื่อนที่ผ่านกัน เกิดเป็นรอยเลื่อนตามแนวระดับ
ภูมิประเทศเกิดจากการที่เปลือกโลกมีการปรับตัวช้าๆ ด้วยกระบวนการที่สำคัญ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นภูมิประเทศ ได้แก่
- กระบวนการแปรสันฐาน (Tectonic process) ก่อให้เกิดภูมิประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ภูเขา เนินเขา ที่ราบสูง ที่ราบ เช่น ภูเขาในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ของประเทศไทย
- กระบวนการปรับระดับผิวแผ่นดิน (Gradation process) เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงช้าๆ ด้วยตัวการธรรมชาติ ได้แก่ ลม แม่น้ำ ธารน้ำแข็ง คลื่น กระแสน้ำ ก่อให้เกิดภูมิประเทศ เช่น เนินตะกอนน้ำพารูปพัด ดินดอนสามเหลี่ยม สันดอนจะงอย ฟยอร์ด เกาะหินโด่ง เป็นต้น
- กระบวนการจากภายนอกโลก (Extraterrestrial process) เป็นการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศด้วยตัวการจากภายนอกโลก เช่น อุกกาบาต เป็นต้น
บรรยากาศภาค (Atmosphere)
เป็นส่วนของแก๊สชนิดต่างๆ ทั้งฝุ่นละออง และไอน้ำที่ห่อหุ้มโลก ประกอบด้วย
1. ชั้นบรรยากาศของโลก สามารถจำแนกได้เป็น 5 ชั้นคือ
- โทรโพสเฟียร์ เป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่ล่างสุด
- สแตรโทสเฟียร์ เป็นขั้นที่เหมาะแก่การบิน และเป็นชั้นโอโซน
- เมโซสเฟียร์ ช่วยเผาไหม้วัตถุจากอวกาศก่อนตกลงมาบนผิวโลก
- เทอร์โมสเฟียร์ เกิดปรากฏการณ์แสงออโรรา การสะท้อนคลื่นวิทยุทำได้ดี
- เอกโซสเฟียร์ เป็นชั้นที่มีดาวเทียมโคจร
2. ลม เป็นการเคลื่อนที่ของอากาศในแนวระนาบขนานกับพื้นโลก แบ่งเป็น
- ลมประจำปี เช่น ลมค้า, ลมประจำตะวันตก, ลมขั้วโลก
- ลมมรสุม เช่น ลมมรสุมฤดูหนาว, ลมมรสุมฤดูร้อน
- ลมประจำเวลา เช่น ลมบก-ลมทะเล, ลมภูเขา-ลมหุบเขา
- ลมประจำถิ่น เช่น ลมว่าว-ลมตะเภา
3. ลักษณะภูมิอากาศ ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภูมิประเทศ ได้แก่ ที่ตั้งตามละติจูด ลมประจำ การไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทร ระดับความสูงต่ำของพื้นที่ ระยะห่างจากทะเล
อุทกภาค (Hydrosphere)
บนโลกนี้ประกอบด้วยพื้นน้ำ 3 ใน 4 ส่วนของโลก ปรากฏในรูปแบบของน้ำในมหาสมุทร น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน ธารน้ำแข็ง ไอน้ำในบรรยากาศ ส่วนกระแสน้ำในมหาสมุทรแบ่งตามอุณหภูมิของน้ำได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ กระแสน้ำอุ่น เช่น กระแสน้ำอุ่นอะแลสกา กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม และกระแสน้ำเย็น เช่น กระแสน้ำเย็นแลบราดอร์ กระแสน้ำเย็นเบงเกวลา เป็นต้น
ชีวภาพ (Biosphere)
เป็นส่วนที่เป็นสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ชีวนิเวศ หรือไบโอม คือ ระบบนิเวศที่มีองค์ประกอบทางปัจจัยกายภาพและชีวภาพคล้ายคลึงกัน แบ่งออกเป็น
1. ชีวนิเวศบนบก เช่น ป่าดิบชื้น, ป่าผลัดใบเขตอบอุ่น, ป่าสน, ทุ่งหญ้าเขตอบอุ่น, ทุ่งหญ้าเขตร้อนชื้น, ทะเลทราย, ทุนดรา
2. ชีวนิเวศในน้ำ เช่น ชีวนิเวศแหล่งน้ำจืด, ชีวนิเวศแหล่งน้ำเค็ม
เรียบเรียงโดย : นำโชค อุ่นเวียง