วัฒนธรรมเกษตรกรรม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 18.1K views



ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในเรื่องเกษตรกรรมมาแต่ยุคเก่าก่อน วิถีชีวิตของคนไทยแต่ครั้งโบราณไม่สามารถจะแยกขาดจากการเกษตรได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมไทยก็คือวัฒนธรรมเกษตรกรรมนั่นเอง แม้ในปัจจุบัน สภาพสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของวิทยาการสมัยใหม่ แต่การเกษตรก็ยังคงเป็นเส้นเลือดหลัก ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในชาติ และเกษตรกรรมยังเป็นหลักประกันความอยู่รอด ในยามที่ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตต่างๆ อีกด้วย การอนุรักษ์การเกษตร จึงไม่เพียงแต่เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการรักษารากฐานแห่งความพออยู่พอกินไว้ ให้ลูกหลานไทยสืบไปในอนาคตอีกด้วย

ภาพ : shutterstock.com

ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก และสังคมในยุคสมัยใหม่ วิถีชีวิตที่พึ่งพาเกษตรกรรมได้รับผลกระทบอย่างมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ การสืบทอด และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมต่างๆ ส่งผลให้การดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ เช่น วิถีชีวิตเกษตรกรนั้น ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามความเป็นไปของโลก

ภาพ : shutterstock.com

ทว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนั้น แนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมเก่าแก่ กลับเป็นสิ่งที่ถูกขับเน้นให้เห็นถึงความสำคัญ โดยการอนุรักษ์ภูมิปัญญาโบราณนั้น ไม่ได้หมายถึงการเหนี่ยวรั้ง หรือการยึดมั่นในรูปแบบของวัฒนธรรมยุคเก่าอย่างตายตัว หากแต่หมายถึงการรักษาจิตวิญญาณ แก่นแท้ หรือรากฐานของวัฒนธรรมของชาติ โดยปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่ขัดแย้ง หรือไม่เหมาะสมกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป หรือก็คือ การทำให้วัฒนธรรมเก่าแก่ของชาติมีความทันสมัยอยู่เสมอนั่นเอง

การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันรุ่งเรืองของประเทศไทย ควรที่จะรักษาไว้ในฐานะรูปแบบการปฏิบัติ และการดำเนินชีวิตของประชาชน โดยวางอยู่บนความสมดุลในการดำเนินชีวิต และประเด็นสำคัญของแนวคิดเรื่องการนุรักษ์ภูมิปัญญาดังกล่าวนั้น คือการที่ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับการอนุรักษ์ภูมิปัญญาด้วย มิใช่เพียงการอนุรักษ์จากหน่วยงานราชการ เพื่อให้ภูมิปัญญาอันงดงามดังกล่าวนั้น ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสมบูรณ์ และงดงาม


เรียบเรียงโดย : นำโชค อุนเวียง