อารยธรรมสมัยใหม่
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 50.7K views



อารยธรรมสมัยใหม่ เป็นอารยธรรมตะวันตก ต่อจากยุคสมัยกลาง ไปจนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1945 ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาที่ชาวตะวันตกออกเดินเรือเพื่อแสวงหาโลกใหม่ โลกตะวันตก และตะวันออก จึงมาบรรจบกัน หากมองจากมุมด้านความก้าวหน้าทางวิทยาการ สามารถมองยุคสมัยใหม่ได้ว่า เป็นการตื่นขึ้นจากการหลับใหลทางปัญญาในยุคมืด ยุคสมัยใหม่มีเหตุการณ์สำคัญต่างๆ มากมายที่ส่งผลกระทบมาถึงเหตุการณ์ในโลกยุคปัจจุบัน อาทิ การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ การปฏิรูปศาสนาคริสต์ การเดินทางสำรวจโลก (ยุคแห่งการสำรวจ) การปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์ การปฏิวัติอุตสาหกรรม และสงครามโลก

ภาพ : shutterstock.com

การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance)

หรือยุคแห่งการเกิดใหม่ มีการฟื้นฟูอารยธรรมกรีก และโรมันโบราณขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็น วรรณคดี ศิลปะ ตลอดจนวัฒนธรรมด้านอื่นๆ ที่เสื่อมสลายไปในช่วงยุคกลาง โดยการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ของ โยฮันน์ กูเท็นเบิร์ก (Johann Gutenberg) ชาวเยอรมนี ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของความคิด วิทยาการ และวรรณคดี ให้แพร่หลายออกไปเป็นวงกว้าง

ภาพ : shutterstock.com

การปฏิรูปศาสนาคริสต์

เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีการแยกตัวออกจากศาสนจักรโรมันคาทอลิก (Catholic Church) ที่มีศูนย์กลางที่นครวาติกัน (Vatican) ไปตั้งเป็นนิกายใหม่ คือ โปรเตสแตนท์ (Protestantism) เป็นผลมาจากการที่ มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) โจมตีศาสนจักรโรมันคาทอลิกที่ชักชวนผู้คนให้ซื้อบัตรไถ่บาป

ภาพ : shutterstock.com

การเดินทางสำรวจโลกของชาวยุโรป

ทำให้เกิด “ยุคแห่งการสำรวจ” (Age of Discovery) ซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 เป็นสมัยที่มีการเดินเรือเพื่อสำรวจดินแดนใหม่ๆ โดยการล่าอาณานิคม เพื่อกอบโกยทรัพยากรจากโลกใหม่ เพื่อเปิดเส้นทางการค้าทางทะเลใหม่ๆ เพื่อการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ รวมทั้งเพื่อการศึกษา นักเดินเรือที่มีชื่อเสียงโด่งดังได้แก่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) เฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน (Ferdinand Magellan)

การปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์

เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการหาความรู้เกี่ยวกับโลก เกิดเป็นวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่เน้นการสังเกต และการทดลอง ความรู้ต้องผ่านการพิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์ มีนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญเช่น นิโคลัส โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus) กาลิเลโอ กาลิเลอิ (Galileo Galilei) ไอแซค นิวตัน (Isaac Newton) ชาร์ล ดาวิน (Charles Darwin) เกรเกอร์ เมนเดล (Gregor Mendel) หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) อัลเบิร์ต ไอน์ชไตน์ (Albert Einstein)

การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)

เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิต จากการใช้แรงงานคน และสัตว์ มาเป็นเครื่องจักร โดยเริ่มที่อังกฤษเป็นที่แรก แน่นอนว่าแร่โลหะที่สำคัญในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมคือ “เหล็ก” และพลังงานเชื้อเพลิงที่สำคัญก็คือ “ถ่านหิน”

สงครามโลก

เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1914-1918 ชนวนของสงครามโลกครั้งที่ 1 คือ การปลงพระชนม์ มกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย-ฮังการี (Archduke Francis Ferdinand) มีศูนย์กลางอยู่ที่ยุโรป ส่วนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1939-1945 เป็นสงครามที่ขยายขอบเขตออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งทวีปยุโรป เอเชีย และอเมริกา ชาติมหาอำนาจทั้งหมดของโลกในขณะนั้น มีส่วนเกี่ยวพันกับมหาสงครามครั้งนี้

ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย

หรือสมัยปัจจุบัน คือช่วงเวลาตั้งแต่ ค.ศ. 1945 จนถึงปัจจุบัน หรือเริ่มต้นจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงเป็นต้นมา เหตุการณ์สำคัญ ๆ ในสมัยปัจจุบันคือ สงครามเย็น (Cold War) โดยที่โลกแบ่งออกเป็น 2 ค่าย ได้แก่ ค่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ และค่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีสหภาพโซเวียต และจีน เป็นผู้นำ สงครามเย็นเป็นการแข่งขันของมหาอำนาจ 2 ขั้ว พร้อมด้วยบริวารของทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากมีความขัดแย้งในเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นร่วมสมัย อาทิ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การก่อการร้าย ความขัดแย้งทางศาสนาและเชื้อชาติ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ จากทำลายสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ เป็นต้น


เรียบเรียงโดย : นำโชค อุ่นเวียง