ความรู้เบื้องต้นทางประวัติศาสตร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 49.6K views



ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวของมนุษยชาติที่เกิดขึ้นในอดีต ตั้งแต่อดีตที่เพิ่งผ่านพ้นไป จนถึงอดีตกาลนานโพ้น โดยแบ่งเป็นยุคสมัยต่างๆ สำหรับเรื่องราวในปัจจุบันนั้น เราสามารถรู้ได้จากการสังเกต แต่สำหรับเรื่องราวต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้าการรับรู้ของเรานั้น เราสามารถศึกษาได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ โดยบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เกิดหลังจากมนุษย์มีตัวอักษรใช้งานแล้ว นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ให้ข้อมูลมากที่สุด

ภาพ : shutterstock.com

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2544 ได้ให้ความหมายของประวัติศาสตร์ไว้ว่า วิชาว่าด้วยเหตุการณ์ที่เป็นมา หรือเรื่องราวของประเทศชาติเป็นต้น ตามที่บันทึกไว้เป็นหลักฐาน เฮโรโดตัส (Herodotus) ชาวกรีก ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ จากผลงานสำคัญคือ การเขียนบันทึกเรื่องราวสงครามระหว่างกรีก กับเปอร์เซีย ส่วนในประเทศไทย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้รับพระสมัญญานามว่า พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า ประวัติศาสตร์ ขึ้นมา

ภาพ : shutterstock.com

เวลาและยุคสมัยทางประวัติศาสตร์

- พุทธศักราช (พ.ศ.) เป็นศาสนศักราชของศาสนาพุทธ สมัยที่ประเทศไทยเริ่มใช้พุทธศักราชอย่างเป็นทางการ คือ เมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีการนับ 2 แบบ ได้แก่ (1) แบบปีย่าง คือ เริ่มนับปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน เป็น พ.ศ. 1 และ (2) แบบปีเต็ม คือ เริ่มนับปีเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานผ่านไปแล้ว 1 ปี เป็น พ.ศ. 1

- มหาศักราช (ม.ศ.) พบมหาศักราชในหลักฐานประวัติศาสตร์ไทย สมัยก่อนการสถาปนาสุโขทัย สมัยสุโขทัย มาจนถึงสมัยอยุธยา วิธีการเทียบเป็นพุทธศักราช คือ มหาศักราช + 621 = พุทธศักราช

- จุลศักราช (จ.ศ.) พบจุลศักราชในหลักฐานประวัติศาสตร์ไทย สมัยสุโขทัย เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 4) วิธีการเทียบเป็นพุทธศักราช คือ จุลศักราช + 1181 = พุทธศักราช

- รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เริ่มใช้ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยรัตนโกสินทร์ศกที่ 1 เริ่มในปี พ.ศ. 2325 ซึ่งตรงกับปีที่สถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานี วิธีการเทียบเป็นพุทธศักราช คือ รัตนโกสินทร์ศก + 2324 = พุทธศักราช

 

การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์

นักประวัติศาสตร์แบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ออกเป็น 2 ยุคใหญ่ๆ คือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ ประกอบด้วย

 

สมัยก่อนประวัติศาสตร์

คือสมัยก่อนที่จะมีบันทึกเรื่องราวของสังคมมนุษย์ แบ่งเป็น

- ยุคหิน แบ่งออกได้อีกเป็น 3 ยุคย่อยดังนี้

     (ก) ยุคหินเก่า มนุษย์ดำรงชีวิตตามธรรมชาติด้วยการล่าสัตว์ และเก็บพืชผักผลไม้ เมื่อแหล่งอาหารร่อยหรอ ก็เร่ร่อนไปหาแหล่งอาหารใหม่ต่อไป ไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง เครื่องมือเครื่องไม้ทำมาจากหินกะเทาะแบบหยาบๆ ใช้สำหรับ ทุบ บด สับ ขุด
     (ข) ยุคหินกลาง มนุษย์เริ่มอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นสังคม ช่วยกันออกหาอาหาร ประดิษฐ์เครื่องมือหินที่ประณีตมากขึ้น
     (ค) ยุคหินใหม่ มนุษย์รู้จักการผลิตอาหารเอง มีการเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ จึงไม่ต้องเร่ร่อนไปหาแหล่งอาหารใหม่ เกิดการตั้งชุมชนเป็นหลักแหล่งถาวร เครื่องมือหินมีความประณีตมาก สามารถขัดหินจนเรียบเป็นมัน และแหลมคมจนสามารถตัดเฉือนได้อย่างมีด เริ่มรู้จักการทำภาชนะด้วยดินเผา

 

- ยุคโลหะ แบ่งออกได้อีกเป็น 2 ยุคย่อยดังนี้

     (ก) ยุคสำริด มนุษย์เริ่มรู้จักการถลุงโลหะมาทำเครื่องมือ เครื่องใช้ โลหะชนิดแรกๆ ที่มนุษย์นำมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ คือ ทองแดง และดีบุก เมื่อหลอมรวมกันจะได้เป็นโลหะผสม ที่เรียกว่า “สำริด”
     (ข) ยุคเหล็ก มนุษย์พบวิธีถลุงแร่เหล็ก ซึ่งเป็นโลหะที่มีความแข็งแรง และเหนียวกว่าโลหะทองแดงและสำริด ทำให้เครื่องมือที่ผลิตได้มีความแข็งแรงทนทานมาก ชาวฮิทไทท์พบวิธีถลุงเหล็กเป็นชาติแรก อาวุธและเกราะจากเหล็กกล้า ทำให้อาณาจักรฮิทไทท์มีความยิ่งใหญ่ในด้านการทหาร มากกว่าอาณาจักรอื่นในสมัยนั้น

ภาพ : shutterstock.com

สมัยประวัติศาสตร์

คือตั้งแต่มนุษย์สามารถประดิษฐ์ตัวอักษรเพื่อใช้บันทึกเรื่องราวของตัวเอง เริ่มจากอารยธรรมสมัยโบราณ เช่น อารยธรรมเมโสโปเตเมีย อารยธรรมอียิปต์ อารยธรรมกรีก และอารยธรรมโรมัน

 

หลักฐานทางประวัติศาสตร์

จำแนกได้ตามความสำคัญของหลักฐาน และตามลักษณะอักษร ได้เป็นหลักฐานประเภทต่างๆ ดังนี้

หลักฐานที่จำแนกตามความสำคัญของหลักฐาน

- หลักฐานชั้นต้น หรือ หลักฐานปฐมภูมิ (Primary sources) เป็นหลักฐานที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น บันทึกจากผู้รู้หรือเห็นเหตุการณ์ ได้แก่ โบราณวัตถุ ภาพถ่าย จดหมายเหตุ
- หลักฐานชั้นรอง หรือ หลักฐานทุติยภูมิ (Secondary sources) เป็นหลักฐานที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ จากการบันทึก หรือเรียบเรียงโดยอิงจากหลักฐานชั้นต้น ได้แก่ หนังสือ สารคดี งานวิจัย

หลักฐานที่จำแนกตามลักษณะอักษร

- หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร (Written sources) ได้แก่ จารึก ตำนาน พงศาวดาร จดหมายเหตุ เอกสารการปกครอง
- หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (Unwritten sources) ได้แก่ โครงกระดูก เครื่องมือเครื่องใช้ พระพุทธรูป เครื่องปั้นดินเผา

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย

- จารึก คือการเขียนให้เป็นรอยลึกบนแผ่นศิลา หรือแผ่นโลหะ หากสลักเป็นตัวอักษรลงบนหิน จะเรียกว่า ศิลาจารึก
- ตำนาน มักจะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ วีรบุรุษ กำเนิดบ้านเมือง ปัญหาสำคัญของตำนานคือ ขาดมิติในเรื่องของเวลาที่ชัดเจน
- พระราชพงศาวดาร เป็นบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ หรือเหตุการณ์ของบ้านเมือง
- จดหมายเหตุ เป็นบันทึกที่มีการระบุวันเวลาอย่างชัดเจน ประกอบด้วย จดหมายเหตุของหลวง จดหมายเหตุโหร จดหมายเหตุหรือบันทึกของชาวต่างชาติ เอกสารประเภทคำให้การ เป็นต้น

 

วิธีการทางประวัติศาสตร์

เป็นกระบวนการขั้นตอนการสืบค้นเหตุการณ์เรื่องราวในอดีตของมนุษย์ ประกอบด้วย

- ขั้นตอนที่ 1 กำหนดประเด็นคำถามที่ต้องการศึกษา
- ขั้นตอนที่ 2 รวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์
- ขั้นตอนที่ 3 ประเมินคุณค่าของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เป็นขั้นตอนการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของหลักฐาน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์
- ขั้นตอนที่ 4 ตีความหลักฐาน เป็นการพิจารณาเนื้อหาว่า ผู้สร้างหลักฐานมีเจตนา จุดมุ่งหมาย หรือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงอย่างไร
- ขั้นตอนที่ 5 เรียบเรียงและนำเสนอ เป็นการนำผลจากการวิเคราะห์ มาเขียนเรียบเรียง และนำเสนอในรูปแบบของรายงานการวิจัย หรือจัดเป็นนิทรรศการ

 

เรียบเรียงโดย : นำโชค อุนเวียง