สังคมชมพูทวีป
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 397.9K views



ชมพูทวีป เป็นคำเรียกโลกของเราตามความเชื่อของศาสนาฮินดูซึ่งเชื่อว่า โลกของเรานั้นตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นแกนกลางของจักรวาล คำว่า “ชมพู” หมายถึง “ต้นหว้า” ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำทวีปนี้ แต่ในสายตาของคนนอกศาสนาและวัฒนธรรมไม่ได้มองเช่นนั้น คำว่าชมพูทวีปที่ชาวฮินดูใช้เรียกโลก จึงกลายเป็นคำที่หมายถึงเฉพาะอาณาเขตอินเดียใต้เท่านั้น ซึ่งชมพูทวีปนี้ มีความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม และลักษณะทางสังคมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อชนชาติต่างๆ มากมาย เช่น ศาสนาพุทธที่มีผู้นับถือนับพันล้านคนในปัจจุบัน หากต้องการเข้าใจศาสนาพุทธอย่างถ่องแท้ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องศึกษาอารยธรรมของชมพูทวีปให้เข้าใจเป็นพื้นฐานเสียก่อน

ภาพ : shutterstock.com

สภาพสังคมของชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล ได้แก่ดินแดนของประเทศอินเดีย เนปาล ปากีสถาน บังคลาเทศ และภูฏานในปัจจุบัน แบ่งตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ได้ 2 ส่วน ได้แก่ มัชฌิมประเทศ ประกอบด้วยแคว้น อังคะ, มคธ, กาสี, โกศล, วัชชี, มัลละ, เจตี, วังสะ, กุรุ, ปัญจาละ, มัจฉะ, สุรเสนะ, อัสสกะ, อวันตี, คันธาระ และกัมโพชะ อีกส่วนคือ ปัจจันตประเทศ อยู่บริเวณรอบนอกขอบชายแดนชมพูทวีป

 

 

ในด้านการเมืองการปกครอง บางแคว้นปกครองในลักษณะสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บางแคว้นเป็นแบบคณาธิปไตย หรือการปกครองที่ถือคณะเป็นใหญ่ บางแคว้นเป็นแบบสามัคคีธรรม หรือที่ตรงกับระบอบสาธารณรัฐในปัจจุบัน มีการแบ่งกลุ่มของประชาชนโดยถือเอาอาชีพและหน้าที่การงานเป็นหลัก ได้แก่ วรรณะกษัตริย์, พราหมณ์, แพศย์ และศูทร ลักษณะของประชากร แบ่งเป็น ชนพื้นเมืองที่มีลักณะผิวดำ ผมดำ จมูกแบน ตาพอง และกลุ่มคนที่มาจากทางตะวันตกเฉียงเหนือมีลักษณะผิวขาว เรียกตนเองว่า อารยัน

 

สังคมอินเดียโบราณ มีความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย แบ่งเป็น

1. ความเชื่อว่าตายแล้วเกิด คือ เชื่อว่าตายแล้วเกิดใหม่เป็นอย่างเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น อยู่ในวรรณะใดก็ยังคงเกิดมาอยู่ในวรรณะนั้น เรียกว่า พวกสัสสตทิฏฐิ
2. ความเชื่อเรื่องตายแล้วขาดสูญ คือ เชื่อว่าชีวิตนี้มีชีวิตเดียว ไม่เวียนว่ายตายเกิด เรียกว่า พวกอุจเฉททิฏฐิ นอกจากนี้ ยังประกอบด้วยกลุ่มชนชั้นนำ ผู้มั่งคั่งด้วยอำนาจเงินทอง มีวิถีชีวิตในทางมัวเมาในอำนาจและโภคทรัพย์ของตน คนอีกกลุ่มก็มีความเบื่อหน่ายมองไม่เห็นสาระของชีวิต จึงออกบวชเพื่อหาทางหลุดพ้นให้แก่ตนเอง ส่วนอีกกลุ่มก็แสวงหาคำตอบที่เป็นทางหลุดพ้นด้วยการคิดค้นทางปรัชญา เร่ร่อนไปสอบถามถกเถียงปัญหาในถิ่นแดนต่างๆ

 

เรียบเรียงโดย : นำโชค อุนเวียง