เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้รู้แจ้งโลก กลายเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงออกสั่งสอนเวไนยสัตว์เพื่อให้รู้ธรรมตาม พระองค์ไม่ได้สอนคนอย่างเดียวกันทั้งหมด แต่จะทรงพิจารณาก่อนว่า ผู้ที่จะทรงสั่งสอนนั้นมีความรู้ มีนิสัยใจคอ เป็นอย่างไร แล้วจึงใช้วิธีที่เหมาะสมแก่การสอนบุคคลนั้น ทรงเป็นแบบอย่างของครูที่ยิ่งใหญ่ เป็นบรมครูของโลก
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ ได้กล่าวอาสภิวาจาตรงกับภาษาบาลีว่า “อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส, เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส, เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส” ความหมายคือ “เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้ใหญ่ยิ่งแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก”
คำกล่าวดังกล่าว เป็นการสะท้อนแนวคิดที่ให้ความสำคัญ และยกย่องต่อความสามารถรวมถึงศักยภาพของมนุษย์ว่า เป็นผู้ที่สามารถฝึกฝนพัฒนาตนเองให้ดีได้ ทั้งด้านคุณความดี และด้านสติปัญญา เพื่อนำไปสู่การเป็นบุคคลผู้ประเสริฐสูงสุด แนวคิดข้างต้นได้ส่งเสริมให้มนุษย์หันมาใส่ใจในศักยภาพของตนเอง และพัฒนาตนเองทั้งทางด้านพฤติกรรม และปัญญาของตนเองอยู่เสมอ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนพุทธสาวกแบบตัวต่อตัว โดยมีความหลากหลายของเนื้อหา รวมถึงความยืดหยุ่นในกลวิธีการสอน มีการวิเคราะห์ผู้เรียนเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้เหมาะสมตามแต่ละบุคคล หรือสถานที่
วิธีที่ทรงใช้บ่อยๆ ได้แก่ การถามตอบที่มีการเปิดโอกาสให้มีการถกเถียง การอภิปรายเพื่อนำไปสู่คำตอบ แล้วจึงสั่งสอนในลักษณะของการสรุปประเด็นนั้นๆ ไม่ได้ทรงสอนให้เชื่อถ่ายเดียว ทรงให้ความสำคัญกับเสรีภาพทางความคิด
ด้วยวิธีการสอนดังกล่าว พระพุทธองค์จึงทรงได้รับการยกย่องเป็นบรมครู คือครูผู้ยิ่งใหญ่ โดยผู้ที่ได้รับฟังคำสั่งสอน ก็จะบังเกิดผลสำเร็จตามแต่สติปัญญาของตนเอง
เรียบเรียงโดย : นำโชค อุ่นเวียง