เวไนยสัตว์ ผู้ที่สั่งสอนอบรมได้
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 20.4K views



คุณค่าสำคัญของมนุษย์ในมุมมองของศาสนาพุทธคือ ความเป็นผู้ที่ฝึกสอนได้ หรือเรียกว่า “เวไนยสัตว์” โดยการพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น ให้ผ่องแผ้ว ด้วยการศึกษาสามประการ หรือเรียกว่า “ไตรสิกขา” คือ ศีล สมาธิ และปัญญา กล่าวคือ รักษาศีลเพื่อให้เกิดสมาธิในการพิจารณาธรรมจนเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง

ภาพ : shutterstock.com

ในทัศนะทางพระพุทธศาสนา มีความเชื่อร่วมกันทั้งในฝ่ายเถรวาทและผ่ายมหายานว่า โดยธรรมเดิมแท้แล้ว มนุษย์ทุกคนนั้นมีความบริสุทธิ์เป็นแก่นแท้ของจิต

แก่นแท้ของจิตในที่นี้มิได้มีความหมายถึงสภาวะบางประการซึ่งตายตัว หรือดำรงอยู่อย่างเป็นนิรันดร์ อย่างคำสอนเรื่องพระเจ้าในทางศาสนาฝ่ายเทวนิยม หากแต่หมายถึง การะแสแห่งการรับรู้อันบริสุทธิ์ที่ดำรงอยู่ การมีความคิดในการแยกแยะในรูปแบบต่างๆ เช่น การกำหนดหมายว่าเป็นสิ่งนี้มิใช่สิ่งนั้น หรือการสร้างความรู้สึกว่าชอบสิ่งนี้ไม่ชอบสิ่งนั้น

แต่ความบริสุทธิ์เดิมแท้ดังกล่าว อาจจะถูกปกคลุมหรือถูกซ่อนเร้นเอาไว้ด้วยความเคยชิน หรือกิเลสติดพัน อันเป็นนิสัยซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางการดำรงอยู่ของชีวิตในห้วงระยะเวลาอันยาวนาน

พระพุทธศาสนาจึงให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่อง การฝึกปฏิบัติ เพื่อนำมนุษย์กลับเข้าสู่รากฐานที่แท้จริงของตัวตน อันบริสุทธ์ปราศจากความมัวหมอง แนวคิดเรื่องการปฏิบัติจึงเป็นแนวคิดที่สำคัญของพระพุทธศาสนา

 

การฝึกปฏิบัติ

พระพุทธศาสนาในนิกายต่างๆ มีแนวคิดเรื่องการปฏิบัติในลักษณะที่คล้ายกัน เพียงแต่วิธีการหรือรูปแบบของการปฏิบัติดังกล่าวนั้น อาจจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามแต่ละนิกาย

การปฏิบัตินั้นมีเป้าหมายที่สำคัญคือ เพื่อปลดปล่อยบุคคลให้หลุดพ้นจากการปกคลุมด้วยความสกปรก หรือความมัวหมองต่างๆ การฝึกฝนตนเองคือ การยกระดับตนเองให้เป็นบุคคลที่ดีขึ้น

ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้การปฏิบัตินั้นบรรลุผลได้ก็คือ การยอมรับในศักยภาพของตัวเอง กล่าวคือการยอมรับว่า มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการเข้าใจธรรม และพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับธรรม อันเป็นรากฐานของธรรมชาติของตัวตนและสรรพสิ่งได้

แนวคิดที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน คือแนวคิดเรื่อง พุทธภาวะ หรือศักยภาพแห่งการบรรลุธรรม ซึ่งพระพุทธศาสนาชี้ว่ามนุษย์ทุกคนเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และมีศักยภาพมากกว่าสัตว์อื่น ระดับของบุคคลตามแนวทางของพระพุทธศาสนา มีดังนี้

- ระดับอันธพาลปุถุชน คือ ผู้ที่ทำ พูด คิด ตามสัญชาตญาณอย่างสัตว์ ไม่รู้จักควบคุมตัวเอง
- ระดับพาลปุถุชน คือ ผู้ที่ยังมีความโลภ โกรธ หลง แต่รู้จักควบคุมตนเองได้บ้าง
- ระดับกัลยาณปุถุชน คือ ผู้ที่ละอายชั่ว กลัวบาป มีศีล 5 และธรรม 5 เกือบสมบูรณ์
- ระดับอริยบุคคล คือ ผู้ฝึกฝนอบรมตนให้ก้าวหน้าด้วยคุณธรรมสูงขึ้นตามลำดับ 4 ขั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

 

การฝึกฝนอบรม

กระบวนการฝึกฝนในทางพระพุทธศาสนา คือ สิกขา จัดเป็น 3 ทาง หรือ ไตรสิกขา หมายถึง ข้อปฏิบัติที่เป็นหลักสำหรับฝึกอบรมกาย วาจา และจิตใจ ประกอบไปด้วย

1. อธิศีลสิกขา เป็นการฝึกฝนในศีล เป็นการควบคุมกาย วาจา ให้เรียบร้อย ได้แก่ ทางกาย คือ ไม่ทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติผิดในกาม ทางวาจา คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดยั่วยุ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
2. อธิจิตตสิกขา เป็นการพัฒนาคุณภาพจิต หรือการปรับปรุงจิตให้มีคุณภาพ และสมรรถภาพสูง ได้แก่ สมถวิธี หรือ วิธีบำเพ็ญกรรมฐานแบบต่างๆ
3. อธิปัญญาสิกขา เป็นการฝึกฝนทางปัญญา การมองดู รู้จัก และเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง หรือรู้เท่าทันธรรมดาของสัจธรรมทั้งหลายด้วยปัญญา

 

เรียบเรียงโดย : นำโชค อุนเวียง