ความเป็นเหตุเป็นผลในพระพุทธศาสนา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 36.8K views



สาเหตุและผล คือการอธิบายการเกิดขึ้นของสิ่งหนึ่งว่าเป็นผลมาจากอีกสิ่งหนึ่ง หรือในทางกลับกันคือ การอธิบายถึงสิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นผลตามมา การใช้เหตุผลวางอยู่ข้อสมมติฐานที่ว่า ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอยๆ หรือเกิดขึ้นได้เองอย่างไร้กฎเกณฑ์ หรือเกิดขึ้นตามอำเภอใจ ทุกสิ่งเป็นไปตามกฎของเหตุปัจจัยที่แน่นอน เช่น เมื่อนำเมล็ดมะม่วงปักลงดิน ย่อมหวังได้ว่าจะได้ต้นมะม่วงงอกขึ้นมา ไม่ใช่ต้นไผ่หรือมะพร้าวเป็นแน่แท้ หลักเหตุผลในลักษณาการนี้มีปรากฏอย่างเด่นชัดในพระพุทธศาสนา คือ หลัก “อิทัปปัจจยตา” หรือ “ปฏิจจสมุปบาท”

ภาพ : shutterstock.com

พระพุทธศาสนาถือเป็นศาสนาอเทวนิยม คือสอนว่าสิ่งทั้งหลายมีเหตุปัจจัยในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่ใช่เกิดจากการดลบันดาลของพระเจ้าองค์ใด โดยดำเนินไปบนกระบวนการแห่งความสัมพันธ์ในเชิงเหตุและผล เรียกว่า “หลักปัจจัยยการ” คือมองว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป็นผลอันมีที่มา มีสาเหตุจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอ ไม่อาจเกิดขึ้นลอยๆ

การดำรงอยู่ของผลย่อมขึ้นอยู่กับการดำรงอยู่ของเหตุ และการดำรงอยู่ของเหตุย่อมส่งผลต่อการดำรงอยู่ของผล การเกิดขึ้นของสิ่งต่างๆ การดับไปของสิ่งต่างๆ มิได้เกิดขึ้นจากอำนาจ หรือจากคำสั่งของสิ่งลึกลับเหนือธรรมชาติ หากแต่เป็นเพียงกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงของสาเหตุและผลลัพธ์แต่เพียงเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น การทานของที่ไม่สะอาดเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย หากวันพรุ่งนี้เราไม่มีอาการท้องเสีย ก็เป็นผลจากการที่เราไม่ได้ทานของที่ไม่สะอาด เป็นต้น

กรณีเช่นนี้เป็นการบ่งชี้ว่า อาการท้องเสียนั้นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับมูลเหตุบางอย่าง และหากมูลเหตุดังกล่าวนั้นเปลี่ยนแปลงไป ผลที่จะเกิดขึ้นก็ย่อมที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยดังกล่าวด้วย

การอิงอาศัยกันก่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไป เรียกว่า “อิทัปปัจจยตา” เป็นกฎของความเป็นปัจจัย หรือสาเหตุของสิ่งทั้งปวง อธิบายเป็นหลักสากลได้ว่า “เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิดด้วย เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับด้วย” ตัวอย่างของหลักอิทัปปัจจยตาคือ “ปฏิจจสมุปบาท” ดังนี้

- เพราะอวิชชา (ความไม่รู้จริง ความหลง) เป็นปัจจัย สังขาร (การปรุงแต่งจิต) ทั้งหลายจึงมี
- เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณ (วิญญาณขันธ์) จึงมี
- เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูป (รูป) จึงมี
- เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะ (อายตนะ 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย ใจ - รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์) จึงมี
- เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะ (การสัมผัสรับรู้) จึงมี
- เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนา (ความรู้สึก) จึงมี
- เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหา (ความอยาก) จึงมี
- เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทาน (การยึดมั่นถือมั่น) จึงมี
- เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพ (ภาวะ) จึงมี
- เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติ (การเกิด) จึงมี
- เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ (แก่-ตาย) จึงมี ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ เศร้า และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมี

 

และในทางกลับกัน หากอวิชชาที่เป็นสาเหตุต้นทางแห่งกองทุกข์ดับ ผลของอวิชชาก็จะดับตามไปด้วยดังนี้

- ทุกข์จะดับไปได้เพราะชาติดับ
- ชาติจะดับไปได้เพราะภพดับ
- ภพจะดับไปได้เพราะอุปาทานดับ
- อุปาทานจะดับไปได้เพราะตัณหาดับ
- ตัณหาจะดับไปได้เพราะเวทนาดับ
- เวทนาจะดับไปได้เพราะผัสสะดับ
- ผัสสะจะดับไปได้เพราะสฬายตนะดับ
- สฬายตนะจะดับไปได้เพราะนามรูปดับ
- นามรูปจะดับไปได้เพราะวิญญาณดับ
- วิญญาณจะดับไปได้เพราะสังขารดับ
- สังขารจะดับไปได้เพราะอวิชชาดับ

 

เมื่อรู้ที่มาของทุกข์ รวมทั้งวิธีในการดับทุกข์แล้ว ศาสนาพุทธจึงมุ่งเน้นให้คนเข้าถึงปัญญาที่แท้จริงเพื่อขจัดอวิชชาออกไปให้หมดสิ้น ก็จะสลัดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้ในที่สุด

และการเพียรพยายามหาทางหลุดพ้นจากบ่วงทุกข์ด้วยการดับสาเหตุแห่งทุกข์ โดยไม่เชื่อเรื่องการอ้อนวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้านี้เอง ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เน้นความเป็นเหตุเป็นผลอย่างยิ่งยวดที่สุดศาสนาหนึ่งในโลก

 

เรียบเรียงโดย : นำโชค อุนเวียง