เป้าหมายของสรรพชีวิตในมุมมองของพระพุทธศาสนาคือ “พระนิพพาน” ซึ่งเป็นปลายทางที่ไปถึงได้ อย่างที่จะว่ายากก็ยากแสนเข็ญ จะว่าง่ายก็ง่ายดายดุจพลิกฝ่ามือ ดังจะเห็นได้จากบุคคลที่ได้ฟังพระวจนะของพระพุทธเจ้า แล้วเกิดดวงตาเห็นธรรมในทันที แต่พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ทุกคนละทิ้งชีวิตนี้แล้วมุ่งสู่พระนิพพานอย่างเดียว เป้าหมายอย่างเช่น ความสุขในเรื่องทางโลก ในการครองเรือน ความสงบสุขในสังคมมนุษย์ ก็เป็นสิ่งที่ทรงสอนไว้ด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากหลัก “สังคหวัตถุ 4”
สังคมอุดมคติในทัศนะของศาสนาพุทธ คือสังคมที่วางอยู่บนหลักการเรื่องการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ความสงบสุขของตัวเราย่อมเกิดขึ้นจากความสงบสุขของสังคม และในทางกลับกัน ความสับสนวุ่นวายของสังคม ย่อมส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อความสงบสุข และความปลอดภัยของตัวเรา
ตัวอย่างของแนวคิดเรื่องการมุ่งประโยชน์สุขของสังคมในศาสนาพุทธคือ แนวคิดเรื่อง “สังคหวัตถุ 4” อันประกอบด้วย
- “ทาน” คือการให้
- “ปิยะวาจา” คือการพูดจาไพเราะอ่อนหวาน
- “อัตถจริยา” คือการช่วยเหลือบำเพ็ญกิจเพื่อผู้อื่น
- “สมานัตตัตตา” คือการเสมอต้นเสมอปลายต่อผู้อื่น
หากสังคมใดที่สมาชิกในสังคมส่วนใหญ่ยึดถือหลัก “สังคหวัตถุ 4” สังคมนั้นย่อมดำเนินไปอย่างสงบสุข มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีมิตรไมตรี มีความสมานฉันท์ หรือมองในภาพรวมคือ มีสันติภาพ อันเป็นเป้าหมายร่วมกันของทุกคนในสังคม ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ศาสนาพุทธให้ความสำคัญกับการสร้างสันติภาพ และสันติสุขในสังคมอย่างยิ่ง
เรียบเรียงโดย : นำโชค อุ่นเวียง