เศรษฐกิจพอเพียงกับทางสายกลาง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 25.2K views



ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักคิดที่สำคัญในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระราชทานเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนของประชาชนในประเทศ ให้ดำเนินอยู่บนหลักการเรื่องทางสายกลาง หรือความพอดี กล่าวคือ การไม่ใช้จ่าย หรือบริโภคมากหรือน้อยเกินไป ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงถือว่าเป็นหลักปรัชญาที่สำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาของประเทศ ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่นิยมการบริโภคกันอย่างมากเกินจำเป็น จนก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจในลักษณะต่างๆ

ภาพ : shutterstock.com

แนวคิดส่วนใหญ่ในโลกนี้ มักเป็นแบบทวิภาวะ คือ สุดโต่งไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ศาสนาส่วนใหญ่เน้นคำสอนที่ให้สละทรัพย์ ละทิ้งชีวิตคฤหัสถ์ ออกแสวงหาความหลุดพ้น ทางรอด เป็นนักบวชซึ่งไม่ไยดีทรัพย์สมบัติ (ในศาสนาพุทธมีคำสอนสำหรับผู้ครองเรือนโดยเฉพาะ)

ในฝั่งผู้ครองเรือน หรือชาวบ้านทั่วไปที่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ ก็ถูกกระตุ้นให้ต้องแข่งขันกันสะสมเงินทอง ตกอยู่ในกฎปลาใหญ่กินปลาเล็ก หากไม่อยากถูกกินก็ต้องกินผู้อื่นเพื่อให้อยู่รอด ซึ่งจะเห็นได้จากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอันไม่มีพื้นที่ให้ศีลธรรมได้มีบทบาท

โชคดีที่เรามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ คือพระภัทรมหาราช ผู้ทรงพระราชทานหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ให้แก่พสกนิกรได้เดินตามรอย เป็นหลักปฏิบัติในทางสายกลางที่ยังให้เกิดความพอเพียง ความพอดี และความผาสุกที่ยั่งยืนของปวงชนชาวไทย จนทรงได้รับการเทิดพระเกียรติจากนานาประเทศเป็นที่ประจักษ์

 

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีองค์ประกอบ 3 ประการดังต่อไปนี้

1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป การบริโภค การใช้จ่าย ต้องไม่ฟุ่มเฟือย หรือไม่ตระหนี่มากจนเกินไป อีกทั้งการดำเนินชีวิตในทางเศรษฐกิจนั้น จะต้องไม่เบียดเบียนตัวเอง หรือเบียดเบียนผู้อื่น

2. ความมีเหตุมีผล หมายถึง การตัดสินใจในการดำเนินชีวิตนั้นจะต้องใช้เหตุผลไตร่ตรองให้มาก พิจารณาถึงความจำเป็นให้ถี่ถ้วนเสียก่อน

3. ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นพลวัต ไม่สามารถกำหนดล่วงหน้าได้ ประชาชนจึงต้องระวังและเตรียมพร้อม หรือก็คือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง

ทั้งสามประการที่ได้กล่าวมานั้น ถูกวางเงื่อนไขที่สำคัญไว้สองข้อคือ เงื่อนไขความรู้ และเงื่อนไขคุณธรรม กล่าวคือ การใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะต้องได้รับการสนับสนุนด้วยองค์ความรู้ที่มีอยู่ คือวิทยาการสาขาต่างๆ ประกอบกับเงื่อนไขเรื่องคุณธรรม เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความเพียร รวมถึงการใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

ภาพ : shutterstock.com

ในพระพุทธศาสนา เราพบว่ามีหลักธรรมที่มีความเกี่ยวข้องคล้ายคลึงกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงคือ หลักธรรมเรื่องทางสายกลาง หรือ “มัชฌิมาปฎิปทา” ที่มองว่าการดำเนินชีวิตนั้น ควรจะวางอยู่บนความเหมาะสม ไม่สุดโต่งไปในด้านใดด้านหนึ่งจนเกินไป

หากบุคคลมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในหลักการเรื่องทางสายกลาง ก็จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับแนวคิดเรื่องการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เพราะทั้งสองเรื่องนั้น เป็นความคิดในลักษณะเดียวกันนั่นเอง

 

เรียบเรียงโดย : นำโชค อุนเวียง