การมีความรู้ หรือการมีการศึกษาที่สมบูรณ์นั้น เป็นรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาตน หรือการปฏิบัติตนตามหลักศาสนาที่ถูกต้อง หลักธรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องการศึกษานั้น คือหลักธรรมเรื่อง “ไตรสิกขา” ประกอบด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการนำไปสู่สังคมที่มีความยุติธรรม สันติภาพ และความสุข
หลักธรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องการศึกษานั้น คือหลักธรรมเรื่อง ไตรสิกขา “ไตร” แปลว่า “สาม” ส่วน “สิกขา” แปลว่า “ศึกษา” จึงมีความหมายถึงการศึกษาสิ่งที่มีความสำคัญทั้งสิ้นสามประการ ประกอบด้วย
ศีล คือ ข้อประพฤติปฏิบัติ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการควบคุมกายและวาจา ให้วางอยู่บนรูปแบบที่ถูกต้องทางศีลธรรม
สมาธิ คือ การควบคุมจิตให้ดำรงอยู่ในสภาวะอันสงบนิ่ง ไม่ไหวเอนไปตามการกระทบซึ่งอายตนะทั้งหลาย
ปัญญา คือ การรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวะธรรมอันเที่ยงแท้ของสรรพสิ่งในโลก
ในการศึกษาไตรสิกขานี้ เมื่อใดความเข้าใจในเรื่อง ศีล สมาธิ และปัญญา เกิดขึ้นพร้อมอย่างสมบูรณ์ เมื่อนั้นความคิด และการกระทำของบุคคล ย่อมจะวางอยู่บนรากฐานของความถูกต้องดีงามในเชิงศีลธรรม
การมีพฤติกรรมและความคิดที่สอดคล้องกับศีลธรรมนี้ เป็นเงื่อนไขที่สำคัญของความสงบสุข หรือสันติภาพในทางการเมือง เพราะสังคมหรือการเมืองนั้น โดยแท้จริงคือการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ หากมนุษย์แต่ละคนนั้นมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องตามหลักการทางศีลธรรมแล้ว ย่อมส่งผลเสียต่อเสถียรภาพ และสันติภาพในสังคม การศึกษาจึงเป็นกุญแจสำคัญในการนำไปสู่สังคมที่มีความยุติธรรม สันติภาพ และความสุข
เรียบเรียงโดย : นำโชค อุ่นเวียง