อริยสัจ 4 ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เป็นความจริง 4 ประการที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ได้ตรัสรู้ ทั้ง 4 ประการนี้ เป็นเรื่องของสาเหตุและผล กล่าวได้ว่า พระพุทธองค์ทรงค้นพบความทุกข์ ทรงพบว่ามีเหตุปัจจัยที่ทำให้ทุกข์นั้นเกิด ทรงพบเหตุแห่งทุกข์นั้น ทรงเข้าถึงความดับทุกข์ ทรงทราบเหตุปัจจัยที่ทำให้ทุกข์นั้นดับ และทรงประกาศ “มรรค” แห่งการดับทุกข์นั้น
อริยสัจ 4 เป็นหนึ่งในหลักธรรมที่สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา เพราะเป็นหลักธรรมที่อธิบายการเกิดขึ้น และการดับไปของสภาวะที่เรียกว่า “ทุกข์” ซึ่งเป็นสภาวะที่พระพุทธศาสนามองว่าก่อให้เกิดปัญหาในชีวิต
“ทุกข์” ในอริยสัจ 4 หมายถึง สภาวะแห่งความไม่สบายกาย และไม่สบายใจ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนเสมอกัน
ทุกข์เกิดขึ้นจากการดำรงอยู่ของเหตุปัจจัยต่างๆ ที่มาประชุมรวมกัน ทุกข์จึงเป็นปราฏการณ์ มิใช่สภาวะที่มีแก่นสารสาระซึ่งจะดำรงอยู่ไปตลอดกาล กล่าวคือ เมื่อปัจจัยต่างๆ ที่ก่อให้เกิดทุกข์ดับสูญไป ความทุกข์ก็ย่อมที่จะดับหายไปด้วย
ความทุกข์มีสาเหตุ เหตุแห่งทุกข์หรือ “สมุทัย” คือความอยาก หรือก็คือ “ตัณหา” และความไม่รู้ หรือก็คือ “อวิชชา” ความอยากนั้]นปรากฏได้ใน 3 รูปแบบ หนึ่งคือ ความอยากทางกามหรือ “กามตัณหา” คือความยินดีพอใจในกามคุณ 5 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส สองคือ ความอยากมีอยากเป็นหรือ “ภวตัณหา” และสามคือ ความไม่อยากมีไม่อยากเป็นในสิ่งที่ตนมีหรือเป็น หรือ “วิภวตัณหา”
หากสามารถดับสาเหตุปัจจัยของทุกข์ลงได้ ความทุกข์ก็จะดับลงด้วย สภาวะแห่งความดับลงของทุกข์เรียกว่า “นิโรธ” ซึ่งเป้าหมายของสรรพชีวิตที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่นี้ ก็คือการดับทุกข์ได้โดยสิ้นเชิงหรือก็คือ “นิพพาน” นั่นเอง
การดับลงแห่งกองทุกข์ก็มีสาเหตุปัจจัย ซึ่งก็คือการดับลงของเหตุแห่งทุกข์ การดับสาเหตุแห่งทุกข์สามารถทำได้โดยปฏิบัติตามหลักการดำเนินชีวิตในแนวทาง “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือทางสายกลาง อันประกอบด้วยองค์ประกอบ 8 ประการ หรือเรียกว่า “มรรคมีองค์ 8” ซึ่งประกอบด้วย
- “สัมมาทิฏฐิ” คือ ความเห็นที่ถูกต้อง
- “สัมมาสังกัปปะ” คือ ความคิดที่ถูกต้อง
- “สัมมาวาจา” คือ วาจาที่ถูกต้อง
- “สัมมากัมมันตะ” คือ การปฏิบัติที่ถูกต้อง
- “สัมมาอาชีวะ” คือ การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง
- “สัมมาวายามะ” คือ ความเพียรที่ถูกต้อง
- “สัมมาสติ” คือ การรู้เท่าทันที่ถูกต้อง
- “สัมมาสมาธิ” คือ การตั้งมั่นของจิตที่ถูกต้อง
องค์ประกอบต่างๆ ในอริยสัจ 4 ดำรงอยู่ในรูปแบบของความสัมพันธ์แบบเหตุและผล ในความสัมพันธ์คู่แรกก็คือ สมุทัยเป็นเหตุแห่งทุกข์ กล่าวคือ ความทุกข์ หรือสภาวะแห่งความไม่สบายกายและใจ ย่อมเป็นผลมาจากความไม่เข้าใจในความเป็นไปของโลกว่า มีได้ย่อมมีเสีย มีพบย่อมมีพรากตามหลัก “โลกธรรม 8” และไม่เข้าใจในลักษณะร่วมกัน 3 ประการของสรรพสิ่ง หรือก็คือ “ไตรลักษณ์” ได้แก่
หนึ่ง คือ ความไม่เที่ยงแท้ ไม่จีรังที่เรียกว่า “อนิจจัง” กล่าวคือ สรรพสิ่งย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่ว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น
สอง คือ ความทนอยู่ได้ยากที่เรียกว่า “ทุกขัง”
สาม คือความไม่ใช่ตัวตน ไม่มีแก่นสารที่เรียกว่า “อนัตตา”
เมื่อไม่เข้าใจว่าสรรพสิ่งล้วนต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา ไม่มีแก่นสารอะไรให้ยึดเหนี่ยว ก็จะพบกับสภาวะที่ “ไม่เป็นไปดั่งใจ” เหตุเพราะต้องการให้สิ่งที่รักนั้น คงอยู่เช่นนั้นตลอดกาล เมื่อพบกับความพลัดพราก สูญเสีย ก็ทำใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ความทุกข์หรือความไม่ได้ดั่งใจจึงปรากฏขึ้นนั่นเอง
ความสัมพันธ์แบบเหตุและผลอีกคู่ในอริยสัจ 4 ก็คือ อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นเหตุแห่งนิโรธ กล่าวคือ การหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ได้นั้น เป็นผลจากการเดินตามทางสายกลาง การเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของสรรพสิ่งต่างๆ ยอมรับในการดำเนินไปของสรรพสิ่งในแบบที่มันเป็น
เมื่อใดที่สามารถเข้าใจโลกและสรรพสิ่งในแบบที่มันเป็นได้ เมื่อนั้นอารมณ์ หรือความปรารถนาทั้งหลายย่อมที่จะดับหายไป ความทุกข์ก็จะดับลงไปด้วย แต่มิใช่เป็นการยุติการรับรู้ หรือการมีปฏิสัมพันธ์ต่อโลก หากแต่เป็นการดำรงอยู่ในโลกอย่างเข้าใจโลก และเข้าใจความเป็นจริงของโลก ชีวิตเช่นนี้คือ วิถีชีวิตในอุดมคติของพระพุทธศาสนานั่นเอง
เรียบเรียงโดย : นำโชค อุ่นเวียง