พระไตรปิฎก
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 46.6K views



พระไตรปิฎก เดิมเรียกว่า พระธรรมวินัย เป็นคัมภีร์รวบรวมคำสอนของพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย พระวินัยปิฏก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ในครั้งสมัยพุทธกาลยังไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ใช้การท่องจำแบบปากต่อปาก เมื่อเวลาล่วงมาจนไม่มีผู้ทันเห็นพระพุทธเจ้าเหลืออยู่ การเกิดอธิกรณ์ก็มากขึ้น การชำระพระธรรมวินัยก็มีปัญหาในเรื่องของความเที่ยงตรง จนหลายร้อยปีให้หลังจึงจะเกิดการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้น แต่ทว่าการสังคายนาพระธรรมวินัยก็ยังคงมีเรื่อยมาจนปัจจุบัน

ภาพ : shutterstock.com

พระไตรปิฎก เป็นคัมภีร์รวบรวมคำสอนของพระพุทธศาสนา เดิมเรียกว่า “พระธรรมวินัย” แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือพระธรรม กับพระวินัย โดยพระธรรมเป็นหลักธรรมทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ส่วนพระวินัยเป็นบัญญัติข้อห้าม ข้อประพฤติปฏิบัติของสงฆ์

ในสมัยพุทธกาลยังไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ใช้การท่องจำแบบปากต่อปาก ครั้งหลังพุทธปรินิพพานไม่นาน พระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญายังมีอยู่มาก ทำให้ไม่ค่อยเกิดอธิกรณ์ (เรื่องใหญ่ในวงพุทธศาสนา) ต่อมาเมื่อเกิดอธิกรณ์ก็มีการสังคายนาพระธรรมวินัย เพื่อชำระพระธรรมวินัยให้เที่ยงตรง

เวลาล่วงมาจนไม่มีผู้ทันเห็นพระพุทธเจ้าเหลืออยู่ การเกิดอธิกรณ์ยิ่งมากขึ้น การชำระพระธรรมวินัยก็มีปัญหาในเรื่องของความเที่ยงตรง จนหลายร้อยปีให้หลังจึงมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้น แต่ทว่าการสังคายนาพระธรรมวินัยก็ยังคงมีเรื่อยมาจนปัจจุบัน ไม่นับถึงว่ามีการถ่ายทอดแปลเป็นภาษาต่างๆ หลายทอด ดังนั้น การอ่านพระไตรปิฎกจึงต้องใช้สติปัญญาพิจารณาให้มาก ไม่ควรยึดติดในตัวอักษรจนเกินไป

 

พระไตรปิฎกนั้นมีเนื้อหาสาระลึกซึ้ง แบ่งเป็นหัวข้อธรรม 84,000 พระธรรมขันธ์ พิมพ์เป็นหนังสือ 45 เล่ม ประกอบด้วย

- พระวินัยปิฏก มี 21,000 พระธรรมขันธ์ เป็นข้อบังคับของภิกษุและภิกษุณี เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพระพุทธศาสนา
- พระสุตตันตปิฎก มี 21,000 พระธรรมขันธ์ เป็นประชุมรวมเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า เป็นเรื่องเล่าเชิงประวัติของพระพุทธองค์ เนื้อหาในพระสุตตันตปิฎกเป็นเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ในวาระต่างๆ หลักธรรมที่ทรงแสดงจึงมีความเฉพาะเจาะจงต่อผู้ฟังในแต่ละโอกาส กล่าวคือหลักคำสอนต่างๆ มีบริบทเฉพาะกาล
- พระอภิธรรมปิฎก มี 42,000 พระธรรมขันธ์ เป็นประชุมรวมหัวข้อธรรมต่างๆ ซึ่งได้รับการอัตถาธิบายโดยพิสดารและแยบคาย โดยสังเคราะห์มาจากเนื้อหาในสุตตันตปิฎกอีกทอดหนึ่ง

 

การสังคายนาพระไตรปิฎก

การสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นการประชุมของพระสงฆ์ เพื่อทำการจัดระเบียบหมวดหมู่พุทธวจนะ เกิดขึ้นภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว สาเหตุของการสังคายนาเกิดจากการตีความหมายพระธรรมวินัยผิดของภิกษุบางรูป ที่ประชุมสงฆ์จึงเห็นควรให้วินิจฉัยว่าเนื้อหาธรรมวินัยที่ถูกต้องเป็นเช่นไร

ประวัติการทำสังคายนาพระไตรปิฎกเกิดขึ้นหลายครั้ง นับตั้งแต่พุทธปรินิพพานจนถึงปัจจุบัน การนับจำนวนก็ยังไม่มีข้อยุติ เนื่องจากการแบ่งออกเป็น 2 นิกายใหญ่ของพระพุทธศาสนา ได้แก่ ฝ่ายเถรวาท และฝ่ายมหายาน ส่วนการทำสังคายนาของฝ่ายเถรวาทที่สำคัญๆ ในประเทศต่างๆ มีดังนี้

 

การสังคายนาครั้งที่ 1 ในประเทศอินเดีย

เป็นการสังคายนาครั้งแรก กระทำเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 3 เดือน ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ใกล้กรุงราชคฤห์ มีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์ราชูปถัมภ์ มูลเหตุเกิดจากการที่พระภิกษุชราภาพรูปหนึ่งชื่อ “สุภัททะ” ได้กล่าววาจาจ้วงจาบพระธรรมวินัย “พระมหากัสสปะ” เล็งเห็นเหตุร้ายนี้ จึงเป็นประธานรวบรวมพระสงฆ์ผู้เป็นพระอรหันต์จำนวน 500 รูป ทำการสังคายนา ใช้เวลา 7 เดือนจึงสำเร็จ

ในการนี้ พระมหากัสสปะผู้มีพรรษาสูงสุดเป็นผู้ซักถามพระธรรมวินัย โดยมี “พระอุบาลี” เป็นผู้วิสัชนาพระวินัย ต่อมาให้ชื่อว่า “วินัยวิสัชนา” ส่วน “พระอานนท์” เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม ต่อมาให้ชื่อว่า “ธัมมวิสัชนา” รวมเนื้อหาทั้งสองส่วนเรียกว่า “พระธรรมวินัย” ในการสังคายนาครั้งนี้ยังมิได้มีการแยกพระธรรมวินัยออกเป็น 3 ตะกร้า (ไตรปิฎก)

 

การสังคายนาครั้งที่ 2 ในประเทศอินเดีย

หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปได้แล้ว 100 ปี พระภิกษุวัชชีบุตรแห่งเมืองวัชชี แคว้นไพศาลี ถือปฏิบัติผิดพระวินัย 10 ประการ พระยสะกากัณฑกบุตรได้ชักชวนพระเถระผู้ใหญ่ประชุมพิจารณาวินิจฉัย ทำการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ 2 ที่ วาลุการาม เมืองไพศาลี ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้ากาลาโศกราช โดยมีพระสังคีติการก 700 รูป มีพระเรวตเถระเป็นประธานผู้ไต่สวนพระธรรมวินัย และพระสัพพกามีเป็นผู้วิสัชชนา ใช้เวลา 8 เดือนจึงแล้วเสร็จ

 

การสังคายนาครั้งที่ 3 ในประเทศอินเดีย

ภายหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน 234 ปี ตรงกับสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชปกครองชมพูทวีป พระเจ้าอโศกทรงเป็นพุทธมามกะ ทำนุบำรุงศาสนาพุทธ ทำให้มีเดียรถีย์ หรือนักบวชนอกพระศาสนา มาปลอมบวชในบวรพุทธศาสนาเป็นอันมากเพื่อหวังลาภยศ เกิดการบิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยความเชื่อในลัทธิเดิมของตน

พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระจึงขอให้พระเจ้าอโศกดำเนินการสอบสวน และกำจัดพวกเดียรถีย์เหล่านั้นออกจากพระพุทธศาสนา โดยให้สละสมณเพศ ซึ่งปรากฏว่าสามารถจับสึกได้ถึง 60,000 รูป เมื่อชำระอธิกรณ์เสร็จแล้ว พระโมคัลลีบุตรติสสเถระจึงเลือกพระอรหันตขีณาสพผู้ทรงอภิญญาจำนวน 1,000 รูป เพื่อประชุมกันทำสังคายนาที่ อโศการาม นครปาตลีบุตร ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช กินเวลา 9 เดือนจึงแล้วเสร็จ

หลังจากทำตติยสังคายนาเสร็จแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชได้จัดส่งคณะสมณทูตออกไปประกาศพระพุทธศาสนานอกชมพูทวีปถึง 9 สาย โดยในแถบดินแดนสุวรรณภูมิ มีพระโสณะ และพระอุตตระ เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนา

 

การสังคายนาครั้งที่ 2 ในประเทศศรีลังกา

เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 433 เป็นการสังคายนาที่มีการจารึกพุทธวจนะลงบนใบลาน แทนการท่องจำหรือ “มุขปาฐะ” แบบเดิม

 

การสังคายนาครั้งที่ 1 ในประเทศไทย

เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2020 ที่วัดโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) จังหวัดเชียงใหม่ มีพระธรรมทินเถระเป็นประธานที่ประชุมสงฆ์ โดยมีพระเจ้าติโลกราชเป็นองค์ราชูปถัมภ์ การสังคายนาครั้งนี้ได้จารึกพระไตรปิฎกโดยใช้อักษรแบบไทยล้านนา

 

การสังคายนาครั้งที่ 5 ในประเทศไทย

การสังคายนาครั้งนี้ จัดทำขึ้นในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2530 ได้มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ โดยฉบับภาษาบาลี เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับไทยรัฐ และฉบับแปลภาษาไทย เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับสังคายนา

 

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย

พระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย ในหลายวาระ หลายยุค ดังนี้

- สมัยก่อนสุโขทัย พระโสณะ และพระอุตตระ เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาบริเวณดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งหมายถึงบริเวณแหลมอินโดจีน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน
- สมัยสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราชส่งศาสนทูตไปนิมนต์พระเถระฝ่ายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ ที่อยู่เมืองนครศรีธรรมราชให้มาจำพรรษา ณ วัดป่าในเมืองสุโขทัย เป็นเหตุให้เมืองสุโขทัยได้สถาปนาพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ขึ้นในประเทศไทย
- ในสมัยพระเจ้าลิไท (พระมหาธรรมราชาที่ 1) ทรงศึกษาพระไตรปิฎกและภาษาบาลี ทั้งทรงนิพนธ์หนังสือเตภูมิกถา (ไตรภูมิพระร่วง) ขึ้น
- สมัยอยุธยา สืบทอดพระพุทธศาสนาต่อจากอาณาจักรสุโขทัย มีการสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ในเขตพระบรมมหาราชวัง มีการค้นพบรอยพระพุทธบาทที่เขาสุวรรณบรรพต เขตสระบุรี ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ต่อมากลายเป็นราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์จะต้องเสด็จไปนมัสการทุกปี
- สมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่วัดอรุณราชวราราม มีการสร้างและบูรณะวัดต่างๆ เช่น วัดบางยี่เรือเหนือ วัดบางหว้าใหญ่ เป็นต้น
- สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้จารึกความรู้แขนงต่างๆ ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และมีการสถาปนาธรรมยุติกนิกายขึ้น โดย พระวชิรญาณภิกขุ หรือเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในเวลาต่อมา) ในขณะที่ทรงผนวชอยู่

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงตั้ง มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้น เพื่อให้เป็นสถาบันการศึกษาของสงฆ์


เรียบเรียงโดย : นำโชค อุ่นเวียง