ศาสนาและจริยธรรม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 12.1K views



ศาสนาคือระบบความเชื่อที่เกี่ยวกับความจริงของโลกและสรรพสิ่ง ครอบคลุมถึงคำสอนในทางศีลธรรม/จริยธรรม ว่าควรปฏิบัติตนอย่างไร กล่าวอย่างง่ายๆ ได้ว่า ศาสนาสอนเรื่อง “ความจริง” และ “ความดี” หรือ “ความสุข” นั่นเอง

ภาพ : shutterstock.com

ระบบความเชื่อเกี่ยวกับความจริง ทั้งที่เป็นศาสนา และไม่เป็นศาสนาในโลกนั้นมีอยู่มากมาย แนวคิดหรือความเชื่อของศาสนาต่างๆ ในโลก ก็มีความแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม อารยธรรม ความเชื่อพื้นฐาน และค่านิยมที่ปรากฏอยู่ในสังคมนั้นๆ ในแต่ละยุคแต่ละสมัย

เมื่อมีความเชื่อในความจริงที่แตกต่างกัน ศาสนาต่างๆ ในโลกจึงมีกรอบคิดทางศีลธรรม/จริยธรรมที่แตกต่างกันไปด้วย เนื่องจากจริยธรรม หรือเรื่องที่ว่า “เราควรปฏิบัติตนอย่างไร” ต้องขึ้นอยู่กับว่า เราเชื่อว่าความจริงของโลกเป็นเช่นไรนั่นเอง

แต่แม้ว่าศาสนาต่างๆ จะมีความเชื่อในความจริงที่ไม่เหมือนกันเพียงไร เช่น บางศาสนาเชื่อในเรื่องพระผู้เป็นเจ้าสร้างโลก ในขณะที่บางศาสนาไม่เชื่อเช่นนั้น แต่ทว่าหลักจริยศาสตร์ของศาสนาต่างๆ ก็ไม่ได้แตกต่างกันอย่างตรงกันข้ามเช่นนั้น อาจเป็นเพราะว่าหลักการทางศีลธรรม/จริยธรรม มักจะวางอยู่บนแนวคิดที่จะธำรงไว้ซึ่งสันติสุขของสังคม

ดังนั้น ความแตกต่างในหลักจริยธรรมของแต่ละศาสนา มักจะเป็นเพียงเรื่องพิธีกรรม เรื่องรายละเอียดปลีกย่อย แต่แก่นแกนทางจริยธรรมนั้น ทุกศาสนาย่อมมีจุดยืนเดียวกัน นั่นคือการธำรงไว้ซึ่งความดีของบุคคล เพื่อความสุขของสังคมและของบุคคลเอง

ภาพ : shutterstock.com

เมื่อพิจารณาถึงจุดร่วมกันทางคำสอนที่มุ่งให้คนประพฤติปฏิบัติดีของแต่ละศาสนาแล้ว จะเห็นได้ว่า ศาสนิกชนของแต่ละศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเป็นปกติสุขได้ แม้ว่าความเชื่อในเรื่องความเป็นจริงของโลก จะแตกต่างกันไปก็ตามที เพราะเหตุว่า ผู้ประพฤติปฏิบัติดีย่อมจะไม่ให้ร้ายแก่ผู้อื่น

 

 

เรียบเรียงโดย : นำโชค อุนเวียง