ตามหลักของศาสนาพุทธนั้น มนุษย์เรามีองค์ประกอบ 5 ประการ หรือ “ขันธ์ทั้ง 5” ประกอบด้วย “รูปขันธ์” คือ กาย รวมกับ “นามขันธ์” อีก 4 กอง ได้แก่ เวทนา, สัญญา, สังขาร และวิญญาณ มนุษย์ประกอบขึ้นด้วยรูปธรรมเพียงหนึ่งส่วน อีกสี่ส่วนที่เหลือเป็นนามธรรม ถือว่าเป็นจิต จะเห็นได้ว่า ศาสนาพุทธให้ความสำคัญกับจิตมาก หลักธรรมทั้งหลายก็มุ่งให้เกิดการพัฒนาจิต การฝึกจิตเป็นสำคัญ ดังเช่น โยนิโสมนสิการ และ สติปัฏฐาน 4
โยนิโสมนสิการ
คือวิธีในการฝึกจิตที่มีความสำคัญ เป็นการทำในใจโดยแยบคาย หรือก็คือการคิดไตร่ตรองอย่างละเอียดถี่ถ้วน เป็นการฝึกให้มีสติหรือความรู้เท่าทัน ไม่หลงเชื่อหรือหลงผิดโดยง่าย เป็นการคิดสืบสาวหาต้นเค้าปัจจัยของสิ่งต่างๆ คิดจากเหตุไปหาผล คิดจากผลไปหาเหตุ ดังนี้
- วิธีคิดแบบสาวหาเหตุปัจจัย
- วิธีคิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ
- วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา
- วิธีคิดแบบอริยสัจ
- วิธีคิดเชื่อมโยงหลักการและความมุ่งหมายให้สัมพันธ์กัน
- วิธีคิดแบบคุณ โทษ และทางออก
- วิธีคิดแบบคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม
- วิธีคิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม
- วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในปัจจุบัน
- วิธีคิดแบบจำแนกประเด็นและแง่มุมต่างๆ หรือการมองหลายๆ มุม
กล่าวให้ง่ายคือ โยนิโสมนสิการเป็นการคิดแบบมีตรรกะ ทั้งวิเคราะห์แจกแจงเป็นภาพย่อย และสังเคราะห์รวบรวมเป็นภาพใหญ่ ในปัจจุบันตรงกับทักษะ “การคิดเชิงวิพากษ์” หรือ “Critical Thinking”
สติปัฏฐาน 4
คือ ที่ตั้งของสติ ความรู้เท่าทัน เป็นเครื่องระลึก 4 ประการ ได้แก่
1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการใช้สติตั้งมั่นในการพิจารณากาย ซึ่งเป็นรูปธรรม เพื่อให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้ว “รูป” เป็น “อสุภะ” (ไม่งาม, น่าเกลียด) เป็นการทำลาย “สุภวิปลาส” (สำคัญผิดว่างาม, ว่าน่ารัก)
2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการใช้สติตั้งมั่นในการพิจารณาเวทนา ซึ่งเป็นนามธรรม เพื่อให้เห็นว่าแท้ที่จริงเแล้ว “นาม” เป็น “ทุกขัง” เป็นการทำลาย “สุขวิปลาส” (สำคัญผิดว่าเป็นสุข)
3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการใช้สติตั้งมั่นในการพิจารณาจิต ซึ่งเป็นนามธรรม เพื่อให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้ว “นาม” เป็น “อนิจจัง” เป็นการทำลาย “นิจจวิปลาส” (สำคัญผิดว่าเที่ยง)
4. ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการใช้สติตั้งมั่นในการพิจารณาธรรม ซึ่งเป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรม เพื่อให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้ว “รูป” และ “นาม” เป็น “อนัตตา” เป็นการทำลาย “อัตตวิปลาส” (สำคัญผิดว่าเป็นตัวตน)
การเข้าใจความจริงของโลกด้วยหลักโยนิโสมนสิการ และหลักสติปัฎฐาน 4 ดังที่กล่าวไปแล้วนี้ เป็นการเข้าใจความหมายที่แท้จริงของโลก เป็นการเข้าใจเพื่อดำรงอยู่ร่วมกับโลก ไม่ใช่การเข้าใจเพื่อปฏิเสธโลก หากแต่เป็นการเข้าใจโลกและตัวตนใน “แบบที่มันเป็น” เพื่อไม่ให้ยึดมั่นและถือมั่นในโลก และในตัวตน
เรียบเรียงโดย : นำโชค อุ่นเวียง