ความเชื่อ หรือศาสนา ซึ่งเป็นรากฐานทางความคิด และจิตวิญญาณของปัจเจกบุคคลในสังคมนั้น มีความหลากหลายจนนับไม่ถ้วน หลายครั้งที่ความเชื่อในสิ่งสูงสุดที่แตกต่างกันของศาสนาทั้งหลาย นำไปสู่ความขัดแย้งของคนในสังคมที่นับถือต่างศาสนากัน หากพิจารณาในมุมมองนี้ ศาสนาหรือความเชื่อ ย่อมถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการสร้างสันติสุขในสังคม กิจกรรมทางศาสนา หรือพิธีกรรมของแต่ละศาสนาที่มีความแตกต่างกัน อาจจะถูกมองว่าเป็นการสร้างความขัดแย้งระหว่างศาสนิกชนได้
กิจกรรมทางศาสนาของแต่ละศาสนา ย่อมมีความแตกต่างในรูปแบบเป็นธรรมดา แต่อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของกิจกรรมทางศาสนานั้น มุ่งส่งเสริมให้คนเป็นคนดีดุจเดียวกัน การเข้าใจจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของกิจกรรมทางศาสนา ว่าเป็นการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันและความสามัคคีในสังคมได้ จะช่วยให้เรามองพิธีกรรมของศาสนาอื่นด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป ว่าแท้ที่จริงแล้วก็มีเป้าหมายไม่ได้ต่างจากศาสนาที่เรายึดถือเลย
กิจกรรมของแต่ละศาสนาที่มีจุดประสงค์อย่างเดียวกันมีอยู่ไม่น้อย ตัวอย่างเช่น การทำทาน การแบ่งปันให้ผู้อื่น หรือ “จาคะ” ที่เป็นหลักปฏิบัติทั่วไปในศาสนาพุทธ มีความคล้ายกันกับหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลามที่เรียกว่า “ซะกาต” คือนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือจุนเจือเพื่อนมนุษย์ในสังคมแล้ว ยังช่วยลดความตระหนี่ ความโลภในใจของผู้บริจาคได้อีกด้วย
อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น แนวคิดเรื่องการมอบความรักต่อเพื่อนบ้าน หรือที่แท้แล้วก็คือเพื่อนมนุษย์ของศาสนาคริสต์ ก็มีหลักการที่คล้ายคลึงกันกับข้อปฏิบัติเรื่อง “พรหมวิหาร 4” ในศาสนาพุทธ ที่สอนให้มี เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ซึ่งโดยรวมก็คือ ความรักและปรารถนาดีต่อผู้อื่น รู้สึกอยากให้เขาพ้นทุกข์ และพลอยยินดีเมื่อเขามีสุข รวมทั้งวางเฉย ไม่ลำเอียง ซึ่งเท่ากับเป็นการปฏิบัติต่อสรรพสิ่งด้วยความรักอย่างเท่าเทียมกัน
เมื่อพิจารณาตัวอย่างของแนวคิดทางจริยศาสตร์ ที่มีเป้าหมายร่วมกันของแต่ละศาสนาได้ดังนี้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า แม้มนุษย์จะมีกิจกรรมทางศาสนาที่แตกต่างกันเพียงไร ก็ยังสามารถดำรงอยู่ในสังคมเดียวกันได้อย่างผาสุก หากเข้าใจถึงคุณค่าที่แท้จริงของกิจกรรมทางศาสนา ทั้งของตนเอง และของเพื่อนมนุษย์ในสังคมเดียวกัน
เรียบเรียงโดย : นำโชค อุ่นเวียง