ศาสนพิธี คือพิธีกรรมทางศาสนา เป็นระเบียบแบบแผนที่พึงปฏิบัติตามความเชื่อของศาสนา ซึ่งแต่ละศาสนาก็จะมีศาสนพิธีที่แตกต่างกันออกไป ศาสนพิธีมีความสำคัญเปรียบเหมือนกับเปลือกของต้นไม้ ที่ห่อหุ้มแก่นแกนซึ่งเป็นคำสอนของศาสนาเอาไว้ แม้จะไม่ใช่สารัตถะหรือแก่นแท้ของศาสนา แต่เปลือกที่ห่อหุ้มก็มีความสำคัญมากเช่นกัน เป็นรูปลักษณ์ที่จับต้องได้ง่าย ทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย หากศาสนาใดที่มุ่งถ่ายทอดแต่แก่นโดยไร้เปลือกห่อหุ้ม ก็ไม่อาจแพร่หลาย หรือเป็นที่ยอมรับในคนหมู่มากได้ เพราะแก่นแท้ของศาสนามักยากต่อความเข้าใจ หรือยากที่จะเข้าถึง
ศาสนพิธีแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
- กุศลพิธี เป็นพิธีที่เกี่ยวข้องกับการบำเพ็ญกุศล การอบรมคุณงามความดี ได้แก่ พิธีรักษาศีลอุโบสถ, พิธีสวดมนต์ไหว้พระ, พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
- บุญพิธี เป็นพิธีที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญที่เกี่ยวกับครอบครัว แบ่งเป็นงานมงคล และงานอวมงคล ได้แก่ การทำบุญขึ้นบ้านใหม่, การทำบุญวันเกิด, งานศพ
- ทานพิธี เป็นพิธีที่เกี่ยวข้องกับการถวายทานแด่พระภิกษุ ได้แก่ พิธีทอดผ้าป่า, พิธีทอดกฐิน, พิธีถวายสังฆทาน
- ปกิณกพิธี เป็นพิธีที่เกี่ยวเนื่องในวันประเพณีต่างๆ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา, วันสงกรานต์, วันขึ้นปีใหม่
ศาสนพิธีที่เกี่ยวเนื่องในการทำสังฆกรรมของสงฆ์
เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ ได้แก่ พิธีทอดกฐิน, พิธีบรรพชา, พิธีอุปสมบท ซึ่งพิธีกรรมของพระสงฆ์นี้ ย่อมมีความเกี่ยวเนื่องกับคฤหัสถ์ด้วยเสมอ หลักปฏิบัติในศาสนพิธีทั้งพิธีบรรพชา และพิธีอุปสมบท มีดังนี้
- การบรรพชา หมายถึง การบวชเป็นสามเณร ผู้มีสิทธิ์บวชต้องเป็นชายอายุ 7 ปีขึ้นไป ก่อนบวชจะต้องปลงผม โกนคิ้ว เตรียมเครื่องบริขารให้ครบ ท่องจำคำของบรรพชาสรณคมน์ และศีล 10 ข้อให้ขึ้นใจ ในปัจจุบันนี้ การบวชเป็นสามเณรก็เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และศึกษาภาษาบาลี หรืออาจเป็นการบวชชั่วคราว อย่างเช่นการบวชเพื่อนำหน้าศพ หรือที่เรียกว่าการบวชหน้าไฟ หรือการเข้าบวชในโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน เพื่อฝึกอบรมเยาวชนในช่วงปิดภาคเรียน
- การอุปสมบท หมายถึง การบวชเป็นพระภิกษุ ผู้มีสิทธิ์ได้รับการอุปสมบทนั้น จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้คือ มีอายุครบตามที่กำหนด คือ 20 ปีบริบูรณ์ มีอาชีพสุจริต มีอวัยวะสมประกอบ ไม่ชราภาพจนเกินไป ไม่ทุพพลภาพหรือพิกลพิการ เป็นผู้ได้รับอนุญาตจากบิดา มารดา สามีหรือภริยา ถ้าเป็นข้าราชการต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการ และไม่มีหนี้สินติดตัว ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง มีบริขารหรืออุปกรณ์ในการบวชครบถูกต้องตามพระวินัยกำหนด มีความรู้อ่านออกเขียนได้ และสามารถกล่าวคำขอบวชด้วยตนเองได้ถูกต้อง
เมื่อกุลบุตรมีความประสงค์ที่จะบวช บิดามารดาหรือผู้ปกครอง ก็จะนำไปถวายตัวกับพระอุปัชฌาย์หรือเจ้าอาวาสที่วัด เพื่อซักซ้อมความเข้าใจและกำหนดวันเวลา เพื่อให้เวลาแก่ผู้จะบวชได้มีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจ ฝึกหัดกิริยามารยาท เตรียมเครื่องบริขาร และท่องจำคำบาลีที่จำเป็นต้องใช้คือ
- คำขอบรรพชาอุปสมบท
- คำถึงไตรสรณะและศีล 10 ข้อ
- คำพินทุ
- คำอธิษฐาน
- คำวิกัปผ้าจีวร
- คำแสดงอาบัติ
- คำให้พร (ยถาสัพพี)
- คำกรวดน้ำ
- คำสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น
- คำสวดพิจารณาปัจจัย 4 คือ บทสวดพิจารณาจีวรเครื่องนุ่งห่ม, อาหาร บิณฑบาต, เสนาสนะที่อยู่อาศัย และคิลานเภสัชยารักษาโรค
ส่วนเครื่องใช้ และสิ่งจำเป็นในการอุปสมบท หรือ อัฎฐบริขาร หรือบริขาร 8 ประการ ประกอบด้วย
1. บาตร
2. อุตราสงค์ คือ ผ้าจีวร (ใช้ห่ม)
3. อันตรวาสก คือ ผ้าสบง (ใช้นุ่ง)
4. สังฆาฏิ คือ ผ้าพาดบ่า (เดิมใช้ห่มซ้อน)
5. กายพันธน์ คือ ประคดเอว
6. ธมกรก คือ กระบอกกรองน้ำดื่ม
7. สูจิ (กล่องเข็ม พร้อมด้วยด้าย)
8. วาสี (มีดโกน)
เรีียบเรียงโดย : นำโชค อุ่นเวียง