กฎหมายไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 4.7K views



กฎหมาย คือ กฎเกณฑ์ข้อบังคับของรัฐ ที่ใช้ควบคุมความประพฤติของบุคคลในรัฐ หากบุคคลใดฝ่าฝืนต้องได้รับบทลงโทษ โดยที่ลักษณะสำคัญของกฎหมาย ได้แก่ เป็นคำสั่งที่มาจากรัฏฐาธิปัตย์ เป็นข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไป เป็นข้อบังคับที่ใช้ได้ตลอดไปและกฎหมายมีสภาพบังคับ กฎหมายไทยมีประวัติย้อนไปได้ถึงสมัยอยุธยา ปัจจุบันแบ่งเป็นกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายเอกชน และกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายมหาชน


 

ภาพ : shutterstock.com

ประวัติกฎหมายไทย

กฎหมายในสมัยอยุธยาได้รับอิทธิพลมาจาก คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งยุครัตนโกสินทร์ มีการชำระกฎหมายครั้งใหญ่ เรียกว่า กฎหมายตราสามดวง การปฏิรูปด้านการศาลและกฎหมายครั้งใหญ่ เกิดขึ้นในสมัยของ รัชกาลที่ 5 ภายหลังการเสียเปรียบด้านการศาล และกฏหมายภายหลังการทำสนธิสัญญาบาวริง พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งการกฎหมายไทย

 

ลำดับชั้นของกฎหมายลายลักษณ์อักษร มีดังนี้  

ลำดับชั้นที่ 1 รัฐธรรมนูญ  
ลำดับชั้นที่ 2 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ  
ลำดับชั้นที่ 3 พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด
ลำดับชั้นที่ 4 ได้แก่ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

 

ประเภทของกฎหมาย แบ่งได้ดังนี้

1. แบ่งตามความสัมพันธ์ของคู่กรณี ได้แก่ กฎหมายเอกชน กฎหมายมหาชน
2. แบ่งตามการกำหนดสิทธิและหน้าที่ ได้แก่ กฎหมายสารบัญญัติ กฎหมายวิธีสบัญญัติ

 

ระบบกฎหมาย แบ่งได้เป็น

1. ระบบกฎหมายซีวิลลอว์
2. ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์

 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์

กฎหมายแพ่ง หมายถึง กฎหมายเอกชนที่กำหนดความสัมพันธ์ในเรื่องบุคคล หนี้ ทรัพย์สิน ครอบครัว และมรดก ส่วนกฎหมายพาณิชย์ หมายถึง กฎหมายเอกชนที่เกี่ยวกับหลักปฏิบัติในทางการค้า กฎหมายแพ่งที่สำคัญ มีดังนี้

 

กฎหมายลักษณะบุคคล

บุคคล หมายถึง สิ่งที่กฎหมายรับรองให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล

บุคคลที่ถูกจำกัดความสามารถ ได้แก่ ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ แต่ก็มีนิติกรรมบางอย่างที่ผู้เยาว์สามารถกระทำได้ ได้แก่ การรับโดยเสน่หา การจดทะเบียนรับรองบุตร การทำพินัยกรรม นิติกรรมที่เหมาะสมแก่ฐานานุรูป

ส่วนนิติบุคคลแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ นิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน และนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน 

 

กฎหมายเกี่ยวกับตนเองและครอบครัว

กฎหมายมีความเกี่ยวเนื่องกับตัวของเราตั้งแต่เกิดจนตาย กฎหมายเกี่ยวกับตนเองและครอบครัว ประกอบด้วย การแจ้งเกิด การแจ้งตาย การย้ายที่อยู่ การทำบัตรประจำตัวประชาชน การสมรส โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. การแจ้งเกิด หากเกิดในบ้าน ภายใน 15 วันนับแต่วันเกิด หากเกิดนอกบ้าน ภายใน 15 วันนับแต่วันเกิด ในกรณีจำเป็นไม่สามารถแจ้งตามเวลาได้ สามารถแจ้งภายหลังแต่ต้องไม่เกิน 30 วันนับแต่วันเกิด
2. การแจ้งตาย หากคนตายในบ้าน แจ้งภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตาย หากคนตายนอกบ้าน แจ้งภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาตาย หรือเวลาพบศพ
3. การขอมีบัตรประจำตัวประชาชน หลักฐานที่ต้องนำไปแสดงเพื่อขอมีบัตร ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่มีชื่อผู้แจ้งอยู่ด้วย สูติบัตรหรือใบสุทธิสำเนาทะเบียนนักเรียน ใบเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)
4. การหมั้น เป็นสัญญาที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงกัน ที่จะทำการสมรสตามกฎหมายต่อไปในอนาคต เงื่อนไขของการหมั้น ได้แก่ ชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ หากยังเป็นผู้เยาว์ ต้องขอความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน การหมั้นจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบ หรือโอนของหมั้นให้แก่ฝ่ายหญิง
5. การสมรส การสมรสจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ก็ต่อเมื่อได้มีการจดทะเบียนสมรส เงื่อนไขของการสมรส ได้แก่

     - ชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์
     - ชายหรือหญิงต้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริต
     - ชายหรือหญิงต้องไม่เป็นญาติสืบสายโลหิตกัน
     - ผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้

ทรัพย์สินระหว่างสามีและภริยา มีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ สินส่วนตัว หมายถึง ทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของสามีภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ และสินสมรส หมายถึง ทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างสามีภรรยา

 

กฎหมายลักษณะมรดก

มรดก หมายถึง ทรัพย์สินของผู้ตาย รวมถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆ ของผู้ตาย ส่วนพินัยกรรม หมายถึง นิติกรรมที่บุคคลได้แสดงเจตนาฝ่ายเดียว ในเรื่องทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ ของตนเมื่อตนได้ตายไปแล้ว

ผู้รับพินัยกรรมมีสิทธิได้รับมรดกก่อนทายาทโดยธรรมเสมอ ทายาทโดยธรรมคือ ทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมาย ได้แก่ ญาติและคู่สมรสของผู้ตาย โดยทายาทโดยธรรมประเภทญาติ มีลำดับดังนี้

ลำดับที่ 1 ผู้สืบสันดาน
ลำดับที่ 2 บิดามารดา
ลำดับที่ 3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
ลำดับที่ 4 พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือร่วมแต่มารดา
ลำดับที่ 5 ปู่ ย่า ตา ยาย
ลำดับที่ 6 .ลุง ป้า น้า อา

 

กฎหมายลักษณะทรัพย์สิน

ทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดิน สะพาน อนุสาวรีย์ กรวด หิน ดิน ทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องจักร สัตว์พาหนะ ลิขสิทธิ์

 

กฎหมายอาญา

กฎหมายอาญา หมายถึง กฎหมายมหาชนที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน โดยบัญญัติถึงความผิดและโทษ ลักษณะของกฎหมายอาญา ได้แก่ หลักไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย, จะย้อนหลังเป็นผลร้ายมิได้, ต้องบัญญัติให้ชัดเจนแน่นอน, ต้องตีความโดยเคร่งครัด

 

ประเภทของความผิดอาญา

- แบ่งตามอัตราโทษ ได้แก่ ความผิดลหุโทษ, ความผิดทั่วไป
- แบ่งตามผู้เสียหาย และการดำเนินคดี ได้แก่ ความผิดอาญาแผ่นดิน, ความผิดต่อส่วนตัว
- ในส่วนของผู้กระทำความผิดหลายคน แบ่งเป็น ตัวการ, ผู้ใช้, ผู้สนับสนุน

 

โทษทางอาญา 

ได้แก่ ริบทรัพย์สิน, ปรับ, กักขัง, จำคุก, ประหารชีวิต โดยมีวิธีการเพื่อความปลอดภัย ได้แก่ กักกัน, ห้ามเข้าเขตที่กำหนด, เรียกประกันทัณฑ์บน, คุมตัวไว้ในสถานพยาบาล, ห้ามการประกอบอาชีพบางอย่าง 

 

กฎหมายอาญาภาคความผิด แบ่งเป็น

     - ความผิดต่อชีวิต ได้แก่ ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา, ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย, ความผิดฐานประมาท

     - ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ได้แก่ ความผิดฐานลักทรัพย์, วิ่งราวทรัพย์, ชิงทรัพย์, ปล้นทรัพย์, รับของโจร, ทำให้เสียทรัพย์, กรรโชกทรัพย์, รีดเอาทรัพย์

 

เรียบเรียงโดย : นำโชค อุนเวียง