สิทธิมนุษยชน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 5.4K views



ความหมายของสิทธิมนุษยชน ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 หมายถึง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือตามกฎหมายไทย หรือตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม ประเทศไทยได้ร่วมลงมติเพื่อรับรอง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กับสหประชาชาติ และให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

ภาพ : shuttrerstock.com

 

สิทธิมนุษยชนจึงเป็นสิ่งที่ติดตัวบุคคลมาตั้งแต่กำเนิดจนกระทั่งตาย เป็นสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ หลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชนจึงเกี่ยวกับ หลักความเสมอภาค สิทธิ เสรีภาพ การไม่เลือกปฏิบัติ

ประเทศไทยได้ร่วมลงมติเพื่อรับรอง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights : UDHR) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 ซึ่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนรับรอง และประกาศโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

 

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย

1. หลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชน
2. สิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
3. สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
4. หน้าที่ของบุคคล สังคม และรัฐ

 

ตัวอย่างสาระสำคัญของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ได้แก่

ข้อ 1 มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระ เท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิ์ประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง

ข้อ 2 ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพทั้งปวง ตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใด อาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง หรือทางอื่น พื้นเพทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน การเกิด หรือสถานะอื่น นอกเหนือจากนี้ จะไม่มีการ แบ่งแยกใดบนพื้นฐานของสถานะทางการเมือง ทางกฎหมาย หรือทางการระหว่างประเทศของ ประเทศ หรือดินแดนที่บุคคลสังกัด ไม่ว่าดินแดนนี้จะเป็นเอกราช อยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเอง หรืออยู่ภายใต้การจำกัดอธิปไตยอื่นใด

ข้อ 3 ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล

ข้อ 4 บุคคลใดจะตกอยู่ในความเป็นทาส หรือสภาวะจำยอมไม่ได้ ทั้งนี้ ห้ามความเป็นทาส และการค้าทาสทุกรูปแบบ

ข้อ 5 บุคคลใดจะถูกกระทำการทรมาน หรือการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้

ในประเทศไทยมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ทำหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ทั้งการตรวจสอบ และรายงานการกระทำ หรือการละเลยการกระทำอันเป็นสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมการศึกษา การวิจัยความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน จัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ

ส่วนสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ได้แก่ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การใช้แรงงานเด็ก เด็กเร่ร่อน เด็กในธุรกิจทางเพศ เด็กและเยาวชนในสถานสงเคราะห์สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน การเลือกปฏิบัติในกลุ่มที่มีความแตกต่าง การคุกคามจากบรรษัทข้ามชาติ และกลุ่มธุรกิจที่มุ่งแย่งชิงฐานทรัพยากร

 

 

เรียบเรียงโดย : นำโชค อุนเวียง