วัฒนธรรมอุปถัมภ์ของสังคมไทย ทำให้หลักการปกครองแบบประชาธิปไตยถูกบิดเบือนด้วยระบบพวกพ้อง จนเกิดเป็นปัญหาการเมืองแบบไทยๆ และเป็นอิทธิพลของการเมืองที่ส่งผลให้พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยไทยเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่สถานการณ์ความมั่นคงทางการเมือง ก็ได้รับผลกระทบจากภายนอกประเทศไปพร้อมๆ กัน
ปัญหาการเมืองที่สำคัญในประเทศไทย
สังคมไทยมีวัฒนธรรมอุปถัมภ์แบบไทยๆ ที่ฝังรากลึกซึ้ง อันเป็นผลมาจากการปกครองแบบศักดินาในสมัยโบราณ ทำให้ผู้ที่มีฐานะด้อยกว่าเข้าไปฝากตัวเป็นผู้รับอุปถัมภ์จากผู้มีฐานะดีกว่า อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์นี้เป็นความสัมพันธ์แบบต่างตอบแทน ที่ต่างฝ่ายต่างได้ผลประโยชน์ที่ตัวเองพอใจ ซึ่งเป็นค่านิยมที่ขัดแย้งกับหลักคิดทางการเมืองที่พัฒนาในโลกตะวันตก ที่ถือว่ามนุษย์มีความเสมอภาคกัน รวมถึงขัดแย้งกับหลักสิทธิเสรีภาพ ที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
ดังนั้น เมื่อสังคมไทยต้องรับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งใช้หลักเสียงข้างมากเข้ามา จึงทำให้อุดมคติแบบประชาธิปไตยถูกบิดเบือนด้วยระบบอุปถัมภ์พวกพ้อง เกิดเป็นปัญหาการเล่นพวก การใช้กฎหมู่ ทำให้การบริหารของรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสะท้อนผ่านปัญหาเหล่านี้
- รัฐบาลขาดเสถียรภาพ เกิดจากการมีรัฐบาลผสมหลายพรรค ซึ่งแต่ละพรรคยึดโยงกับประชาชนในท้องที่แบบอุปถัมภ์ ผ่านระบบหัวคะแนน เช่น การใส่ซองช่วยเหลืองานแต่งงาน หรืองานศพ ประชาชนในชนบทจึงมักจะเลือกพรรคการเมือง หรือตระกูลการเมืองเดิมๆ เพราะมีความสัมพันธ์ยึดโยงกัน
- การฉ้อราษฎร์บังหลวง เกิดจากการคานอำนาจระหว่างประชาชนกับรัฐบาลตามครรลองประชาธิปไตยไม่เกิดขึ้น เนื่องจากประชาชนจำนวนมากไม่ช่วยป้องกัน แต่กลับยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการฉ้อราษฎร์บังหลวง ด้วยการรับผลประโยชน์ตอบแทนผ่านระบบอุปถัมภ์พวกพ้อง อย่างที่มีสำนวนว่า “โกงไม่เป็นไร ขอให้แบ่งกัน”
- ความคิดเห็นทางการเมืองขัดแย้งกัน การปกครองแบบประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นตามหลักการเรื่องเสรีภาพ แต่เสรีภาพนั้นวางอยู่บนหลักการเคารพความเห็นซึ่งกันและกันด้วย ดังนั้น ระบบอุปถัมภ์พวกพ้องแบบไทยๆ จึงทำลายอุดมคตินี้ ด้วยวัฒนธรรมถกเถียงเพื่อทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่สร้างสรรค์ โดยใช้ความชอบและไม่ชอบเป็นที่ตั้ง
สถานการณ์ความมั่นคงทางการเมืองของไทย
ปัญหาความมั่นคงทางการเมืองของไทยมีที่มาทั้งจากภายในประเทศเอง และจากภายนอก
หากแบ่งปัญหาเป็นด้านต่างๆ สามารถแบ่งได้ดังนี้
- ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา และจีน
- ความมั่นคงทางการเมือง ทั้งการขาดเสถียรภาพของรัฐบาลซึ่งเป็นผลจากวัฒนธรรมสังคมการเมืองไทยเอง และการแทรกแซงทางการเมืองจากประเทศมหาอำนาจ ที่สนับสนุนบางพรรคการเมืองที่เป็นปากเสียงแทนอย่างออกนอกหน้า
- ความมั่นคงด้านพลังงาน เกิดจากการพึ่งพาพลังงานจากภายนอกประเทศ โดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งมีปริมาณการผลิตและราคาขายตามสถานการณ์การเมืองของโลก
- ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี และบางอำเภอของจังหวัดสงขลา เป็นปัญหาที่เรื้อรังและต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ซึ่งสร้างความสูญเสียทางชีวิต และสร้างความแตกแยกระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมในพื้นที่
- ปัญหาโรคระบาด เช่น การระบาดของไวรัส H1N1 หรือไวรัสโควิด-19 ที่สร้างความสูญเสียทั้งทางชีวิต และทางเศรษฐกิจ
อิทธิพลของระบบการเมืองการปกครองที่มีผลต่อการดำเนินชีวิต
คนหนึ่งคนจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบอบการเมืองการปกครองแบบใดแบบหนึ่งเสมอ ตามแต่ว่าอาศัยอยู่ในประเทศ หรือรัฐใด
หากอยู่ในประเทศที่ปกครองค่อนข้างเป็นเผด็จการ (อาจเป็นเผด็จการประชาธิไตยก็ได้) ที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางการเมืองสูง ประชาชนก็จะถูกจำกัดเสรีภาพในการใช้ชีวิต อาจเป็นด้านเศรษฐกิจ หรือด้านการเมือง หรือทั้งสองด้าน แต่หากอยู่ในประเทศที่ปกครองค่อนไปทางเสรีนิยม ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ ประชาชนก็จะได้รับสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจ และทางสังคมมากกว่า
ประเทศต่างๆ ในโลกนี้ รวมถึงประเทศไทย ล้วนมีประวัติศาสตร์ทางการเมืองการปกครองที่เป็นเรื่องของการสร้างความสมดุลระหว่าง ความมั่นคงแห่งรัฐ กับการให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชน ตามแต่บริบทและพัฒนาการทางสังคมเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ บางประเทศอาจจะต้องผ่านสงครามกลางเมืองที่นองเลือด ในขณะที่ประเทศไทยถือว่ามีความค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งดังกล่าวมักส่งผลให้เกิดสิ่งต่างๆ เหล่านี้
- การให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ที่ถือว่ามนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรี ที่ควรได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพในฐานะสิ่งที่มีจุดมุ่งหมายในตัวเอง หรือควรได้รับเสรีภาพในการใช้ชีวิตตามสมควร
- การตื่นตัวทางการเมือง มักมาพร้อมกับการเรียกร้องประชาธิปไตย และการสนับสนุนกิจกรรมของพรรคการเมือง เช่น การโหวตเลือกพรรคที่ตนเองชื่นชอบในการเลือกตั้ง
- เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำเสนอข้อมูลความล้มเหลวของรัฐบาล ที่ไร้ประสิทธิภาพในการบริหาร
- การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ โดยคนที่ประกอบอาชีพเดียวกัน เพื่อสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งไว้ต่อรองกับกลุ่มอื่นๆ ในสังคม รวมถึงรัฐบาล
- การชุมนุมประท้วงของชาวบ้าน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ในท้องถิ่น เช่น การประท้วงให้ระงับการนำโรงงานอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มาตั้งใกล้กับหมู่บ้านของตน เป็นต้น
เรียบเรียงโดย : นำโชค อุ่นเวียง