วรรณกรรมพื้นบ้าน ภูมิปัญญาทางภาษา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 36K views



วรรณกรรมพื้นบ้าน คือ วรรณกรรมที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ใช้ภาษาและสำเนียงพื้นบ้านตามท้องถิ่นนั้นๆ โดยเกิดขึ้นจากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่น รวมถึงจารีต ประเพณี ทัศนคติ ค่านิยม ตลอดจนความเชื่อของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ในอีกทาง วรรณกรรมพื้นบ้านก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย โดยเป็นบันทึกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกด้วยภูมิปัญญาทางภาษาที่ลุ่มลึก

ภาพ : shutterstock.com

ภูมิปัญญาทางภาษา

คือความสามารถของคนโบราณในการที่จะแฝงข้อคิด สภาพสังคม องค์ความรู้ ตลอดจนความงดงามและความบันเทิงต่างๆ ไว้ในสื่อที่เป็นภาษา ทั้งวรรณกรรมและบทเพลง โดยผู้รับสารจะต้องวิเคราะห์เนื้อหาที่แฝงอยู่ในสารนั้นๆ ด้วยตนเอง ไม่เช่นนั้นก็อาจจะได้รับเพียงความบันเทิงอย่างเดียว

 

วรรณกรรมพื้นบ้าน

หมายถึงวรรณกรรมที่ถ่ายทอดอยู่ในวิถีชีวิตชาวบ้าน โดยถ่ายทอดด้วยวิธีการบอกเล่าปากต่อปากและเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร

1. นิทานพื้นบ้าน คือ เรื่องเล่าที่สืบทอดต่อๆ กันมา เช่น นิทานจักรๆ วงศ์ๆ นิทานศาสนา นิทานคติ นิทานอธิบายเหตุ นิทานเรื่องสัตว์ นิทานเรื่องผี มุขตลกต่างๆ

2. ตำนานพื้นบ้าน คือ เรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสถานที่ บุคคล ศาสนวัตถุ ศาสนา และสถานที่สำคัญๆ ในท้องถิ่นต่างๆ รวมทั้งเรื่องเล่าที่อธิบายความเป็นมาของความเชื่อและพิธีกรรมในท้องถิ่นต่างๆ ตำนานอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง อาจหาข้อพิสูจน์หรือหลักฐานไม่ได้ เป็นเรื่องเล่าจากความเชื่อความศรัทธาที่สืบทอดกันมายาวนาน เช่น “ตำนานพญากงพญาพาน” ซึ่งเป็นตำนานขององค์พระปฐมเจดีย์ หรือ “ตำนานเรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” เป็นต้น

3. บทสวดหรือบทกล่าวในพิธีกรรม คือ คำสวดที่ใช้ประกอบในพิธีกรรมต่างๆ เช่น บททำขวัญ คำบูชา บทสวดสรภัญญ์ คาถาบทอานิสงส์ บทประกอบการรักษาโรคพื้นบ้าน คำให้พร คำอธิษฐาน เป็นต้น

4. บทร้องพื้นบ้าน เพลงพื้นบ้าน คือ คำร้องที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาในโอกาสต่างๆ เช่น บทกล่อมเด็ก บทร้องเล่น เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงฉ่อย เป็นต้น

5. สำนวน ภาษิต คือ คำพูดหรือคำกล่าวที่สืบทอดกันมา มักมีสัมผัสคล้องจองกัน เช่น โวหาร คำคม คำพังเพย คำอุปมาอุปไมย คำขวัญ คติพจน์ คำสบถสาบาน คำสาปแช่ง เป็นต้น

6. ปริศนาคำทาย คือ คำหรือข้อความที่ตั้งเป็นคำถาม-คำตอบ ที่สืบทอดกันมา เพื่อให้ผู้ทายได้ตอบปัญหา เช่น คำทาย ปัญหาเชาวน์ ผะหมี เป็นต้น

7. ตำรา คือ องค์ความรู้ที่มีการเขียนบันทึกในเอกสารโบราณ เช่น ตำราโหราศาสตร์ ตำราดูลักษณะคนและสัตว์ ตำรายา เป็นต้น


เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว