ข้อคิดจากวรรณคดีและวรรณกรรม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 60.5K views



คุณค่าทางอ้อมอีกประการของววรณคดีก็คือ ประโยชน์จากการนำความรู้ และข้อคิดไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง ซึ่งคุณค่านี้ ผู้อ่านจะต้องสังเคราะห์ออกมาเองจากการอ่านหรือฟังเรื่องราว ซึ่งแต่ละคนก็อาจได้ข้อคิดต่างกันออกไป แล้วแต่ประสบการณ์ชีวิตและมุมมองของแต่ละบุคคล วรรณคดีบางเรื่องก็ให้ข้อคิดคำสอนทางศาสนา หรือศีลธรรมโดยตรง บางเรื่องก็แฝงข้อคิดผ่านพฤติกรรมและผลลัพธ์ของตัวละคร ในแง่นี้ วรรณคดีที่เชื่อมโยงกับศาสนาจะให้ข้อคิดโดยไม่ต้องใช้การวิเคราะห์และสังเคราะห์มากนัก

ภาพ : shutterstock.com

ตัวอย่างการสังเคราะห์ข้อคิดจากวรรณคดี เช่น จากการอ่าน “สามก๊ก” ทำให้ระมัดระวังในการเจรจา การเลือกคบค้าสมาคมกับผู้คนมากขึ้น ไม่ไว้วางใจใครง่ายๆ ซึ่งถึงแม้สามก๊กจะเป็นเรื่องราวของการทำศึกสงคราม แต่ปัจจุบัน นักธุรกิจก็สามารถปรับใช้กลยุทธ์ในการบริหารงานบริหารคนได้เช่นกัน

การสังเคราะห์ข้อคิด ก็คือการตกผลึกความคิดใหม่หนึ่งๆ จากการศึกษารวบรวมข้อมูลความรู้หลายๆ อย่างหรือหลายๆ ด้านเข้าด้วยกัน ดังนั้น การสังเคราะห์ข้อคิดจากวรรณคดีจึงทำได้โดยอ่านวรรณคดีอย่างพินิจพิจารณา หรืออาจต้องอ่านหลายๆ ครั้ง โดยในครั้งหลังๆ ผู้อ่านมักจะมองเห็นบางสิ่งที่เคยมองข้ามไป หรืออาจเป็นเพราะมีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้นจึงทำให้สามารถสังเคราะห์ข้อคิดบางอย่างออกมาได้

 

ประเภทของการคิดแบบสังเคราะห์ มี 2 ลักษณะคือ

1. การคิดสังเคราะห์เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆขึ้นมา อย่างเช่น ที่นักวิทยาศาสตร์ หรือนักประดิษฐ์สร้างสิ่งของเครื่องใช้ใหม่ๆ ออกมา สร้างอุปกรณ์ใหม่ๆ ขึ้นมา นั่นคือการคิดแบบสังเคราะห์ เป็นรูปธรรม

2. การคิดสังเคราะห์เพื่อสร้างแนวคิดใหม่ๆ เป็นการพัฒนาและคิดค้นแนวคิดใหม่ๆ ถ้าเรามีความรู้ มีความคิดสร้างสรรค์ดีๆ เราก็จะทำให้เกิดการงอกงามในความคิดใหม่ๆ เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ เช่น แนวคิดในการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ที่เป็นพลาสติก แนวคิดในการกำจัดขยะมีพิษ แนวคิดในการช่วยให้นักเรียนสนุกกับการเรียนภาษาไทย สิ่งเหล่านี้ ถ้าได้รับการยอมรับจากสังคม ก็จะเป็นประโยชน์กับสังคมอย่างมาก การคิดแนวนี้เป็นการคิด ในรูปแบบ นามธรรม

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว