คุณค่าโดยตรงของวรรณคดีก็คือเรื่องของวรรณศิลป์ การประพันธ์ที่ยอดเยี่ยม สวยงาม กลวิธีการแต่งเรื่องที่แยบคาย ทำให้วรรณคดีนั้นๆ สามารถเกาะกุมจิตใจของผู้อ่านรุ่นแล้วรุ่นเล่าได้อย่างเหนียวแน่น วรรณกรรมทุกเรื่องที่ได้รับการยกย่องเป็นวรรณคดี ล้วนแต่มีวรรณศิลป์ที่ยอดเยี่ยม มีความสละสลวยสวยงามทางภาษา มีความไพเราะของถ้อยคำเมื่อเล่าออกมา วรรณศิลป์ยังแสดงถึงอัตลักษณ์ของผู้ประพันธ์ได้ดีอีกด้วย และเหนือสิ่งอื่นใด วรรณศิลป์ยังถือเป็นมรดกของภูมิปัญญาทางภาษาของชนในชาติที่ควรอนุรักษ์และสืบสานต่อไป
กวีที่โดดเด่นด้านการใช้วรรณศิลป์ของไทย ตั้งแต่โบราณนานมามีมากมาย ตัวอย่างเช่น “ศรีปราชญ์”, “เจ้าฟ้ากุ้ง”, “เจ้าพระยาพระคลัง (หน)”, “พระสุนทรโวหาร (ภู่)”, “กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส”, “สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร”, “พระมหามนตรี (ทรัพย์)”, “พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย)”, “พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน)” เป็นต้น
การพิจารณาคุณค่าด้านวรรณศิลป์นั้น ต้องศึกษาตั้งแต่การเลือกชนิดคำประพันธ์ให้เหมาะสมกับประเภทของงานเขียน การรู้จักตกแต่งถ้อยคำให้ไพเราะสละสลวย อันเป็นลักษณะเฉพาะของภาษากวี ทำให้ผู้อ่านเกิดความสะเทือนอารมณ์ ภาษากวีสร้างความงดงามไพเราะแก่บทร้อยแก้วหรือร้อยกรอง โดยมีหลักสำคัญที่เกี่ยวข้องกัน 3 ด้าน ดังนี้
การสรรคำ
การสรรคำ หรือการเล่นเสียง คือการเลือกใช้คำให้สื่อความคิด ความเข้าใจ ความรู้สึก และอารมณ์ได้อย่างงดงาม การเล่นเสียงอักษร เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์ เพื่อเพิ่มความไพเราะ และยังถือเป็นการแสดงความสามารถของกวีที่แม้จะเล่นเสียงของคำแต่ก็ยังคงความหมายไว้ได้อีกด้วย โดยการสรรคำทำได้ดังนี้
- การเลือกคำให้เหมาะแก่เนื้อเรื่องและฐานะของบุคคลในเรื่อง
- การใช้คำให้ถูกต้องตรงตามความหมาย
- การเลือกใช้คำพ้องเสียง คำซ้ำ
- การเลือกใช้คำโดยคำนึงถึงเสียงสัมผัส
- การเลือกใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ
- การเลือกใช้คำไวพจน์ได้ถูกต้องตรงตามความหมาย
การเรียบเรียงคำ
การเรียบเรียงคำ คือการจัดวางคำที่เลือกสรรแล้วให้เรียงร้อยกันอย่างต่อเนื่องเป็นจังหวะ ตามโครงสร้างภาษาหรือตามฉันทลักษณ์ ซึ่งมีหลายวิธี เช่น
- จัดลำดับความคิดหรือถ้อยคำจากสิ่งสำคัญน้อยไปหาสิ่งสำคัญมาก จนถึงสิ่งสำคัญที่สุดเป็นลำดับสุดท้าย
- จัดลำดับความคิดหรือถ้อยคำจากสิ่งสำคัญน้อยไปหามาก แล้วหักมุมความคิดผู้อ่าน
- จัดลำดับคำให้เป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบหรือมีคำตอบอยู่ในตัวคำถามเองแล้ว
- เรียงถ้อยคำเพื่อให้ผู้อ่านแปลความหมายไปในทางตรงกันข้าม
- เรียงคำ วลี และประโยค ที่มีความสำคัญเท่าๆ กัน เคียงขนานกันไป
การใช้โวหาร
การใช้โวหาร คือการใช้ถ้อยคำเพื่อให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพหรือเรียกว่า “ภาพพจน์” ซึ่งมีหลายวิธีที่ควรรู้จัก ได้แก่
- อุปมา คือการเปรียบเทียบลักษณะที่เหมือนกันของสองสิ่งที่แตกต่างกัน โดยมักใช้คำเปรียบเทียบดังนี้ “เหมือน เสมือน ดุจ เฉก เช่น ดัง เพียง ราว ปาน” ตัวอย่างเช่น
“พักตร์น้องผ่องเพี้ยงจันทร์เพ็ญ”
“พอถึงเวลาเลิกงานเธอก็รีบพุ่งตัวออกประตูไปอย่างว่องไวปานสายฟ้าแลบ”
- อุปลักษณ์ คือการเปรียบเทียบความเหมือนกันของสิ่งสองสิ่งโดยนัย มักไม่มีคำเปรียบโดยตรง ถ้ามีคำเปรียบ ก็มักจะใช้คำเหล่านี้ ได้แก่ “เป็น คือ เท่า” ตัวอย่างเช่น
“รสรินคือจุดอ่อนของทีม เชิญค่ะ”
“ชุดเดรสนี้เหมาะกับตุ่มเดินได้”
- บุคลาธิษฐาน คือการสมมุติสิ่งไม่มีชีวิตต่างๆ ให้มีกริยาอาการหรือความรู้สึกเหมือนมนุษย์เพื่อขับเน้นอารมณ์ความรู้สึก ตัวอย่างเช่น
“พระพายโลมไล้เรือนร่างของนางอย่างเสน่หา”
“ทะเลคลุ้มคลั่งซัดเรือน้อยใหญ่จมลงไปนอนนิ่งอยู่ใต้ก้นมหาสมุทร”
- อธิพจน์ คือการกล่าวเกินจริง เพื่อขับเน้นข้อความนั้นให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น
“เจ๊ศรีเป็นริดสีดวงขนาดใหญ่เท่าลูกนิมิต”
“รถคันนี้ภายในกว้างขวาง ควายมานอนดิ้นตายได้สามตัวครึ่ง”
- อวพจน์ คือการกล่าวน้อยกว่าความเป็นจริง ตรงกันข้ามกับอธิพจน์ แต่ใช้เพื่อขับเน้นข้อความเช่นกัน ตัวอย่างเช่น
“แม่ค้าตักข้าวให้น้อยยังกะเซ่นผี”
“พ่อให้เงินมาวันละสองพัน แค่เดินห้างสามนาทีก็หมดแล้ว”
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว